“โพนงามน้ำใจดี เกียรติศักดิ์ศรีปู่มหาราช
ลือเลื่องแม่ขาวอาด ยอดนักปราชญ์ของชุมชน
เลิงเปือยงามสง่า ด้วยพระเมตตาองค์ภูมิพล
ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีพอย่างยั่งยืน”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนบ้านโพนงามเป็นที่ดอน พื้นที่ทำการเกษตรเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ในเขตชลประทานลำปาว ทำนาปีละครั้ง สภาพพื้นที่ทำการเกษตรน้ำท่วมเกือบทุกปี ในฤดูแล้งเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ อาชีพการทำนา และทำการเกษตรเป็นอาชีพหลักของชุมชน เพราะชาวบ้านได้มีวิถีชีวิตการดำรงชีพสืบต่อจากบรรพบุรุษ ขาดความรู้ความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้การดำรงชีวิตของชาวบ้านชุมชนประสบปัญหาทั้งเรื่องรายได้ สภาพคล่องในครัวเรือน ความเป็นอยู่
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
จากการร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ ผู้นำหมู่บ้านและประชาชนในชุมชนได้เล็งเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อประชาชนชาวไทย เพื่อให้ชุมชนมีความมั่นคง พัฒนาอาชีพให้สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง มีความเข้มแข็ง และสมัครสมานสามัคคี จึงได้จัดตั้งกลุ่ม/องค์กรขึ้นในชุมชน เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนชุมชนให้พัฒนามีศักยภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ
-กลุ่มสัมมาชีพชุมชนแปรรูปผ้า
-กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ๑๐ ผลิตภัณฑ์
-กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านโพนงาม มีคณะกรรมการบริหาร ๒๒ คน โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง (๑) เพื่อปลูกฝังคุณธรรม ๕ ประการ ได้แก่ มีความซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจ และความไว้วางใจกัน (๒) ส่งเสริมความรักความสามัคคี (๓) พัฒนาเศรษฐกิจโดยระบบทุนในหมู่บ้าน สร้างแหล่งเงินทุนในชุมชน และให้สมาชิกกู้เพื่อประกอบอาชีพและความมีวินัยในการออมของสมาชิก เป็นต้น
ชาวบ้านโพนงามได้ประชุมประชาคมหมู่บ้าน ตั้งกฎของหมู่บ้าน เพื่อความสงบสุขเรียบร้อยของหมู่บ้าน ดังนี้
๑.ครอบครัวใดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะไม่ได้รับความร่วมมือในการประกันตัวช่วยเหลือ จากผู้นำท้องที่ และข้าราชการที่อยู่ในชุมชน
๒.ผู้ที่ถูกจับกุมและมีหลักฐานชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้รับความช่วยเหลือสวัสดิการจากชุมชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ
๓.งดเหล้าในงานบุญ และงานพิธีกรรม
๔.ห้ามดื่มและจำหน่ายสุราในวัดและสถานศึกษา
๕.ห้ามเล่นการพนันในงานศพ
๖.ห้ามขับรถเร็ว และทำเสียงดังตามถนนในหมู่บ้าน เพราะเป็นการรบกวนผู้อื่น
๗.ห้ามตัดไม้ และล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์
๘.ผู้ใดขาดการประชุมติติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง โดนไม่มีเหตุอันสมควรจะถูกติเตือนจากหมู่บ้านชุมชน
ความท้าทาย
เดิมทีชุมชนบ้านโพนงามเป็นชุมชนแห่งการเกษตร มีการทำนา เป็นหลัก รองลงมาคือเลี้ยงสัตว์ปลูกผัก เพราะเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ทำให้ประชาชนในชุมชนไม่กล้าเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เพราะประชาชนในชุมชนขาดซึ่งความรู้เท่าที่ควร ต่างก็คิดว่าสิ่งที่ทำนั้นมีความสุขพอเพียงดีอยู่แล้ว แต่ในเมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ชาวบ้านได้ดำเนินวิถีชีวิตมาได้เกิดความชะงักมีอุปสรรคเกิดขึ้น ผู้นำชุมชนและหน่วยงานของรัฐจึงได้ร่วมมือจัดการเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชนในชุมชน ให้เห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงที่ชาวบ้านเข้าใจอยู่แล้ว ให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น และมุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ในระยะแรกชาวบ้านได้มีความคิดเห็นที่แตกต่าง ให้ความร่วมมือน้อย แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งส่วนของภาครัฐและผู้นำชุมชนทำให้ปัญหาและอุปสรรคลุล่วงไปได้ด้วย
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐและผู้นำชุมชนได้ให้หลักความรู้ทางด้านเศรษฐกิจพอพอเพียง และนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้รับรู้และมีความเข้าใจที่ถ่องแท้ ปลูกฝังคุณธรรม ๕ ประการ ได้แก่ มีความซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจ และความไว้วางใจกัน ปลูกฝังความรักความสามัคคี และความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ชุมชนบ้านโพนงามมีความมั่งคง มั่งคั่ง ยังยืน มีความเข้มแข็ง มีความอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการพัฒนาชุมชนให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นทุกๆ ด้านเป็นชุมชนตัวอย่าง จึงถือได้ว่าชุมชนบ้านโพนงานได้ประสบผลสำเร็จเป็นชุมชนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรม
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ด้วยความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านในชุมชน ทำให้ชุมชนบ้านโพนงานมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีความเข้มแข็งสมัครสมานสามัคคีกัน มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง มีรายได้ที่เพียงพอ ชาวบ้านในชุมชนมีความต้องการพัฒนาชุมชนของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป พร้อมที่จะเป็นชุมชนตัวอย่างต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่น เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ชุมชนบ้านโพนงามประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาสาธารณชน
ข้อมูลการติดต่อ
ผู้ประสานงาน (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด)
นางสุขณิชมน ปิ่นวิเศษ ๐๘๑-๘๗๔๘๙๒๔
แสดงความคิดเห็น