กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนบ้านโนนบุรี เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท เมื่อก่อนมีเส้นทางการคมนาคมไม่สะดวกและไม่มีเส้นทางเชื่อมกับอำเภออื่นๆ จึงคล้ายกับเป็นเมืองปิด แต่โชคดีที่หลวงปู่หา เจ้าอาวาสวัดป่าสักกระวันภูกุ้มข้าวได้นิมิตฝันเห็นฟอสซิลไดโนเสาร์ และได้มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมากมีความสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้มีการจัดทำหลุมขุดค้นซากฟอสซิลไดโนเสาร์ศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวและพิพิธภัณฑ์สิรินธรขึ้น ทำให้คนในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร ค้าขาย ประมง และรับจ้าง เริ่มรวมตัวกันเป็นชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอสหัสขันธ์ โดยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์โดย อาจารย์ ณัฐวดี พัฒนโพธิ์ มาช่วยขับเคลื่อน มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชนเพื่อเป็นการสร้างอาชีพและรายได้
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
เริ่มจากศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวข้างเคียง โดยการบริหารจัดการให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยชุมชน มีศูนย์บริการการท่องเที่ยว ณ ถนนสายสายกลางเมืองสหัสขันธ์ไดโนโรด รวมทั้งเป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมส่งเสริมวิถีชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณีและสวัสดิการสังคม รวมทั้งเป็นสถานที่ขยายผลสู่ชุมชนอื่นเป็นจุดศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและบริหารกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนโนนบุรี อีกทั้งความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือและความพยายามของคนในชุมชนในลักษณะ บ้าน วัด โรงเรียน ส่วนราชการ และที่สำคัญเทศบาลตำบลโนนบุรี ที่คอยส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานการจัดกิจกรรมที่สำคัญร่วมกับชุมชน ซึ่งบุคลากรในชุมชนได้รับความรู้และประสบการณ์งานวิจัยของชุมชนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ อยู่เสมอ
มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ได้ร่วมกับสำนักสงฆ์พุทธาวาสจัดงานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะเชิงเขาภูสิงห์ งานมหาสงกรานต์แหลมโนนวิเศษ ถนนสายบุญถนนคนเดิน ประเพณีฮีต ๑๒ ครอง ๑๔ จนได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ รางวัล ๑ ใน ๑๐ สุดยอดชุมชนคุณธรรมต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี”ระดับประเทศจากกระทรวงวัฒนธรรม ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแม้จะประสบปัญญาผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำหรือโรคระบาดโควิด-๑๙ ชุมชนก็ยังมีการขับเคลื่อนมาโดยตลอดจากการเริ่มต้นของชุมชนเกือบ ๒๐ ปีอย่างต่อเนื่องและมีวิวัฒนาการการพัฒนาชุมชนต้นแบบมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
ความท้าทาย
มีความท้าทายในเรื่องขององค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว องค์กรของชุมชนที่จะมาขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ หรือการบูรณาการความร่วมมือ และทรัพยากรจากทุกฝ่ายไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ ปัญหาขาดงบประมาณในการขับเคลื่อนกิจกรรมและงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-๑๙ แต่ชุมชนต้นแบบบ้านโนนบุรี ก็ยังมีการขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของชุมชนให้ต่อเนื่อง โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชนและภาคีการพัฒนาในพื้นที่ ดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันและรักษาของทางราชการ
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
คนในชุมชนมีความรู้และประสบการณ์จากกิจกรรม ใช้คุณธรรมนำการพัฒนาในทุกด้าน มีความร่วมมือกันและบูรณาการทำงานกับทุกฝ่ายในชุมชน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ทั้งภายในและนอกชุมชน มีความเป็นเจ้าบ้านที่ดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นำเอาหลักคำสอนของศาสนาไปสู่การปฏิบัติจากกิจกรรมถนนสายบุญมีการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ โดยเฉพาะชุดไทยสหัสขันธ์ทั้งหญิงและชาย ซึ่งมีความสวยงามมากในกิจกรรมถนนสายบุญ มีการผลิตสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม CPOT , CCPOT ของชุมชน ภูมิปัญญา ค้าขายในโลกยุคใหม่ในถนนคนเดินสหัสขันธ์ไดโนโรด โอเคภูสิงห์ การต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนด้วยความประทับใจ ได้อนุรักษ์ ฟื้นฟูการแสดงพื้นเมืองของคนในชุมชนทุกรุ่น เกิดรายได้กับชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนมีความสุข และพึงพอใจในชุมชนของตนเอง และมีชุมชนอื่นทั้งในและนอกจังหวัดกาฬสินธุ์มาศึกษาดูงานอยู่เป็นประจำซึ่งจะนำไปสู่การขยายผลการพัฒนาไปสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านโนนบุรีมีเป้าหมายที่จะพัฒนาชุมชนต่อยอดศักยภาพที่ชุมชนมีอยู่ทั้งในด้านบุคลากร ชุมชนและทรัพยากร ต่อยอดเที่ยวชุมชนยลวิถี โดยวางเป้าหมายให้ชุมชนบ้านโนนบุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและมุ่งสู่สากล และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีการจัดทำแผนงานโครงการและคณะกรรมการขับเคลื่อนชุมชนโนนบุรีสู่สากล มีการขับเคลื่อนแผนงานโครงการโดยชุมชนควบคู่กันไป และการมีส่วนร่วมในพลังบวร ภาคีการพัฒนาภายนอกที่เกินความสามารถของชุมชน โดยให้มีองค์กรของชุมชนในการขับเคลื่อนกิจกรรม และมีภาคีการพัฒนาภายนอกเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริม ให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ข้อมูลติดต่อ
นายณรงค์ ขูรูรักษ์ ๐๘๐-๗๔๕๐๑๐๐
แสดงความคิดเห็น