community image

ชุมชนคุณธรรมบ้านโนนชัยศรี

อ.โพนทอง ต.โนนชัยศรี จ.ร้อยเอ็ด
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 5 คน
cover

นายเวียงสงค์ มณี ผู้ใหญ่บ้านโนนชัยศรี ได้เคยศึกษาเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านหลายคน ปลูกฝังให้เป็นคนสำนึกรักบ้านเกิดจากรุ่นสู่รุ่น นายเวียงสงค์เริ่มพัฒนาชุมชนจากการพัฒนาในรูปแบบของ “บวร” โดยการทำฝายคำนกเอี้ยง สมัยนั้นยังไม่มีหน่วยงานราชการใดๆ ที่เข้ามาให้การช่วยเหลือ อาศัยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านและกลุ่มจิตอาสา ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๑๔ กำนันที่มีจิตอาสาได้เสียสละเดินทางไปประสานงานกับชลประทานจังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยความอดทน และเพียรพยายาม จนทำให้เกิดโครงการทำฝายน้ำล้นบึงห้วยดอกซ้อนขึ้น โดยมีพ่อกะจ้ำให้คำแนะนำทางด้านจิตวิญญาณ

ต่อมาลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นได้กลับมาช่วยกันพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง จากการเห็นแบบอย่างที่ดีของปราชญ์รุ่นเก่า และอาศัยประเพณีเป็นศูนย์รวมจิตใจ เช่น งานบุญบั้งไฟ จึงเกิดกลุ่มจิตสาธารณะ จิตอาสาในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ผู้ใหญ่เวียงสงค์จึงน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการพัฒนาร่วมกับการพัฒนาชุมชนและเกษตรและสหกรณ์จังหวัด โดยปัญหาที่ต้องการแก้ไขมีหลากหลาย เช่น ปัญหาวัยรุ่น การทะเลาะวิวาท การแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ปัญหายาเสพติด ปัญหาการลักขโมย ปัญหาเรื่องขยะ ปัญหาผู้สูงอายุถูกละเลย ไม่มีกิจกรรมทำ ปัญหาน้ำประปาไม่ไหลนานครั้งละ ๓-๔ วัน ปัญหาเรื่องไม่มีตลาดรองรับสินค้าจากกลุ่มต่างๆในชุมชน และปัญหาจากการขาดจิตสำนึก ความเห็นแก่ตัว ในการใช้ถนนหน้าบ้าน การบุกรุกที่สาธารณะ และจับปลาในฤดูวางไข่


จากปัญหาที่ชุมชนพบนั้น จึงเกิดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการทำความดีเพื่อชุมชน เช่น การของบประมาณเพื่อมาขุดลอกบึงห้วยดอกซ้อน การดำเนินโครงการ ๙๑๐๑ ซื้อรถไถใหญ่ขนาด ๔๐ แรงม้า การทำชุมชนเกษตร พัฒนาบึงห้วยดอกซ้อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร การรวมกลุ่มทำงานเพื่อชุมชน เช่น กลุ่มสวัสดิการชุมชนมีรถไถเพื่อส่วนรวม กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้าน กองทุนขยะที่ทุกหมู่บ้านเป็นสมาชิกร่วมกัน การทำเกษตรอินทรีย์ โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำโรงเรียนผู้สูงอายุ และการสำรวจแนวเขตป่าแปลงสาธารณะและการปลูกป่า

คุณธรรมที่มีความโดดเด่นของบ้านโนนชัยศรี ประกอบไปด้วย

๑.ความสามัคคี ความพร้อมเพรียง การมีส่วนร่วมทำสิ่งที่ดี ปรึกษาหารือกันก่อนทำ พึงพอใจทุกฝ่าย ไว้วางใจกันและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ บำรุงวัดวาอาราม

๒.ประหยัดและออมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

๓.รับผิดชอบร่วมกัน รับฟังเสียงส่วนมาก ใช้กระบวนการลงประชามติ

๔.เสียสละต่อส่วนรวม มีความเอื้ออาทรช่วยเหลือกันและกัน มีจิตสาธารณะ จิตอาสา

๕.เกิดการพึ่งพาตนเอง ขยัน มีน้ำใจแบ่งปัน

ซื่อสัตย์ ซื่อตรง

๖.หลักฆราวาสธรรม คือ สัจจะ ต่อตนเอง ทมะ การข่มใจให้สงบ ขันติ มีความอดทน จาคะ คือการบริจาค


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

๑.นำเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แก้ให้ตรงจุด คือปัญหาเกิดที่ไหน ให้แก้ที่นั่น

๒.วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง จัดทำแผนหมู่บ้านแบบมีส่วนร่วมด้วยเวทีประชาคม และจัดลำดับความสำคัญ โดยแบ่งเป็นกิจกรรมที่ทำเอง และกิจกรรมที่ขอความช่วยเหลือจากรัฐ

๓.การกำหนดให้คณะกรรมการหมู่บ้านมาจากทุกเครือข่ายในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มเกษตรฯลฯ โดยมีกลไก คือใช้หนังสือแต่งตั้งจากนายอำเภอ และภายในหมู่บ้านมี

การแต่งตั้งและมอบหมายกันรับผิดชอบ


ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

         ชุมชนเกิดความสามัคคี มีการปรึกษาหารือ วางแผนแบบมีส่วนร่วม มีความพากเพียร อดทน เห็นอกเห็นใจ ดึงเอาศักยภาพของคนที่หลากหลายมาช่วยในการทำงานแต่ละด้าน จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมดังนี้

๑.เกิดศูนย์เรียนรู้ ฐานเรียนรู้ มีโรงปุ๋ยอินทรีย์ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เช่น เพาะเห็ด มีไฟฟ้า ประปา ถนนทั่วถึง

๒.เกิดการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีและทรัพยากรธรรมชาติ

๓. มีกลุ่มสวัสดิการชุมชน คนในชุมชนรู้จักประหยัด การออม พอกินพอใช้ หนี้สินลดลงมีเงินเหลือเก็บ


ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม

๑.อยากเปลี่ยนแปลงไร่นาเป็นศูนย์เรียนรู้ของหมู่บ้าน แต่ยังขาดเงินทุนในการนำมาพัฒนา ซึ่งถ้าทำได้จะสามารถรับซื้อผัก และผลผลิตทางการเกษตรทุกชนิดในรูปแบบเครือข่าย มีความพอเพียง ซื่อสัตย์ต่อกัน เกิดการรวมกลุ่มปรึกษาหารือและให้คำแนะนำกันและกัน

๒.ลูกหลานชาวโนนชัยศรีที่เก่งแต่ละด้านกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิด คนในชุมชนเข้าใจเรื่องสุขภาวะที่ดี ไม่ฉีดยาฆ่าหญ้า เลิกใช้ยาฆ่าแมลง

๓.มีการอนุรักษ์รักษาและสืบสานประเพณีท้องถิ่น เช่น กลองยาว การทอผ้า ไว้อย่างเข้มแข็ง สามารถพัฒนาเป็นสถานที่เรียนรู้ได้ในหลายด้าน 


ช่องทางติดต่อ

แสดงความคิดเห็น

profile