“ธนาคารความดี
ทุกคนอยู่ดี
มีความสุข”
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองสาหร่ายเกิดจากการรวมกันเพื่อดูแลกันเองในชุมชนเนื่องจากประชาชนในตำบลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ จึงไม่มีสวัสดิการดูแลยามเจ็บป่วยหรือชราภาพ พิการและเสียชีวิต รวมทั้ง ปัญหาเรื่องหนี้สินในแต่ละครัวเรือน จึงเกิดการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการขึ้นและมอบสวัสดิการให้กับสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๒
ในปี ๒๕๔๙ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่ายได้เริ่มสมทบเงินเข้ากองทุนปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท กระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๘ กองทุนได้รับเงินสมทบจากงบประมาณรัฐบาล จากเทศบาลตำบลหนองสาหร่าย จากองค์กรด้านการเงินและอื่นๆ ทำให้ในปัจจุบันเงินกองทุนของสวัสดิการฝากไว้ที่สถาบันการเงินฯโดยแบ่งการบริหารออกเป็น ๓ ส่วน คือ
๑.ฝากประเภทออมทรัพย์ไว้ที่สถาบันการเงินชุมชน เพื่อนำไปจ่ายให้สมาชิก
๒.ฝากบัญชีประจำกับสถาบันการเงินชุมชน เพื่อให้ได้ดอกผล
๓.กลุ่มองค์กร หรือวิสาหกิจชุมชนนำไปบริหารกลุ่ม เพื่อให้เกิดดอกผล
สำหรับรูปแบบการจัดสวัสดิการของกองทุนมีทั้งให้เป็นเงินและไม่เป็นเงิน อาทิ สวัสดิการเงินขวัญถุงวันแต่งงาน สวัสดิการตั้งครรภ์ สวัสดิการกีฬา สวัสดิการด้านสุขภาพและความเจ็บป่วย สวัสดิการในการดูแลสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน การส่งเสริมสร้างอาชีพที่ดีให้คนในชุมชน ส่งเสริมการรักชุมชน และการสร้างคุณค่าทางจิตใจของอาชีพเกษตรกร เป็นต้น
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองสาหร่ายมีภารกิจในการบูรณาการทุนชุมชนเพื่อจัดสวัสดิการให้กับประชาชนในตำบล ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า
“ทุกคนมีสวัสดิการ แบ่งปันความรัก เอื้ออาทรคุณค่าเท่าเทียม ครอบคลุมทั่วถึง สร้างวัฒนธรรมชุมชน สู่สังคมคุณธรรม”
สวัสดิการแบบองค์รวม
ในการสร้างสวัสดิการแบบองค์รวม อาศัยการเชื่อมโยงและบูรณาการทุนในชุมชน รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบสวัสดิการของชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ภายใต้หลักคิด “ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรฐกิจพอเพียง” โดยบูรณาการเชื่อมโยงทุน คนและแผนการทำงานเข้าด้วยกัน ได้แก่ ๑.คณะกรรมการกองทุน ๒.แผนงานของกองทุน ๓.การประสานความร่วมมือกับภาคีและแหล่งทุน
การบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการที่ดี
สิ่งที่ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองสาหร่าย มีการบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่ที่วิสัยทัศน์ตามที่กล่าวมาและหลักการ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี ครอบคลุมทั่วถึงและเป็นธรรม” รวมทั้งการมีส่วนร่วมและการให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมภิบาล “ความโปร่งใส ตรวจสอบได้”
นอกจากนั้น ยังมีการใช้หอกระจายข่าวของทุกหมู่บ้านแจ้งให้ชาวบ้านในตำบลรับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องด้วย อีกทั้งมีการประกาศยกย่องชมเชยสมาชิกในชุมชน ในวาระสำคัญต่างๆของตำบล และมอบใบประกาศเกียรติบัตรและความดีต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ค้ำประกันการเข้าถึงแหล่งทุนหรือกู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันได้ ตลอดจนการใช้หลักความกตัญญูกตเวทีตอบแทนพระคุณ เป็นต้น โดยหลักการและเป้าหมายเดียวกันของทุกคน คือ “ทุกคนอยู่ดี มีความสุข”
ความสำเร็จของกระบวนการ
พัฒนาแบบองค์รวม
ปฏิทินชุมชน คือ เวทีการพูดคุยที่ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาชุมชน ผ่านการพูดคุยปรึกษาหารือตามวิถีชีวิต โดยจัดเดือนละครั้งในวันที่ ๒๕ ของทุกเดือน และมีการมอบสวัสดิการให้กับสมาชิกในวันประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านตามปฏิทินชุมชน จากการประชุมตามปฏิทินชุมชน ทำให้เกิดผลดีต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนได้เป็นอย่างดี
สร้างธรรมนูญความสุขและธนาคารความดี ซึ่งมีการกำหนดตัวชี้วัดความดีในด้านต่างๆ ให้กับประชาชนในตำบลหนองสาหร่ายเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมที่อยู่ดีมีความสุขจาก ๒๓ ความดี ๖๗ ตัวชี้วัด
ฐานเรียนรู้ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของชุมชนของกองทุนทำให้เกิดฐานเรียนรู้ขึ้นจากพลังชุมชน ๕ องค์กร คือ องค์กรการเงิน องค์กรพัฒนาด้านสุขภาพ องค์กรกลุ่มอาชีพ องค์กรการด้านพัฒนาคนและสิ่งแวดล้อม และองค์กรสวัสดิการ จนเกิดเป็นฐานการเรียนรู้ ๖ ฐาน
๑)ธนาคารความดี “ฝากความดี พัฒนาคุณธรรมใช้ความดีเข้าถึงแหล่งทุน”
๒)เศรษฐกิจพอเพียง “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ส่งเสริมการออมจากการจ่าย”
๓)สุขภาพชุมชน “อยู่ดี กินดี อย่างยั่งยืน”
๔)กองทุนสวัสดิการชุมชน “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี”
๕)หลักสูตรท้องถิ่น“เรียนรู้ชีวิตจากประสบการณ์จริง”
๖)การเมืองภาคประชาชน การมีส่วนร่วมของทุกหมู่บ้านในการกำหนดชีวิตและอนาคตของตนเองจากฐานทรัพยากรแต่ละหมู่บ้าน
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
จากการพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ชุมชนร่วมกำหนดไว้ คือ “ชุมชนอยู่ดี มีความสุข” ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพและสวัสดิการชีวิตของคนในตำบลหนองสาหร่าย ดังนี้
สามารถลดรายจ่ายทั้งตำบลได้ ปีละ ๕,๐๐๐,๐๐๐บาท ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ครัวเรือนปลูกผักกินเองไม่น้อยกว่า ๕ ชนิด
เงินกองทุนนำไปสู่วาระชุมชนความดีปลดหนี้ได้ มีการปลดหนี้นอกระบบได้ ๑๙,๓๐๐,๐๐๐บาท
การประกาศวาระของชุมชน ๔ เรื่อง
๑.ตำบลแห่งความสุขใช้ความสุขเป็นเป้าหมายของการพัฒนา
๒.ตำบลสวัสดิการ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี ครอบคลุมทั่วถึงและเป็นธรรม”
๓.ตำบลพอเพียง โดยใช้หลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาตนเองของศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองสาหร่าย
๔.ลดหนี้สินโดยใช้ยุทธศาสตร์ความดีปลดหนี้ได้
เกิดการประสาน เชื่อมโยงและบูรณาการเป็นองค์รวม การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีและกลุ่มองค์กรในการพัฒนาแผนงานของตำบลร่วมกันจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับชุมชนในตำบลหนองสาหร่ายที่นำไปสู่สังคมแห่งความสุขของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีคุณค่ามากกว่าตัวเงินได้
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :
นายศิวโรฒ จิตนิยม ผู้ประสานงานกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลหนองสาหร่าย
เบอร์โทรติดต่อ ๐๓๔ ๖๘๒๐๓๑
มือถือ ๐๘๑ ๗๖๓๗๓๔๑
แสดงความคิดเห็น