ชาวบ้านทับเกวียนทองมีอาชีพทำนา เผาถ่านและเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก มีความเป็นอยู่เรียบง่าย ตามวิถีวัฒนธรรมและวิถีชาวพุทธ กลุ่มชนที่พักอาศัย ได้แก่ ไทยพื้นถิ่น และไทยกุย เนื่องจากมีเขตติดต่อกับชุมชนไทยกุย ใช้วัดยางตะพายเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจด้วยกันถึงแม้จะมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ต่างกันบ้าง แต่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน
หมู่บ้านทับเกวียนทองเป็นเหมือนชุมชนอื่นๆ ทั่วไป ที่เมื่อประสบปัญหาความยากจน แต่ชาวบ้านทับเกวียนทองกลับไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคและปัญหา มองเห็นคุณค่าคำสอนและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำแนวทางการใช้ชีวิตแบบพอเพียงไปในการดำรงชีวิตโดยเริ่มจากการหันไปสร้างเสริมอาชีพ เช่น ทำสวน ผลไม้นานาชนิด ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ วัตถุประสงค์เพื่อไว้กินเองไม่ต้องเสียเงินชื้อ เมื่อมีจำนวนมากก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้าน ที่เหลือก็นำไปขาย นอกจากนี้ยังคงใกล้ชิดกับหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสนา ดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมท้องถิ่น
ในปี ๒๕๕๘ หมู่บ้านทับเกวียนทอง ได้รับคัดเลือกเป็นชุมชนต้นแบบตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหมู่บ้านนำร่องต้นแบบที่ทุกครัวเรือนยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ลดรายจ่ายและเสริมสร้างรายได้ จากนั้นได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านปิดทองหลังพระ ได้รับการการคัดเลือกให้เป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของกระทรวงวัฒนธรรม
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ร่วมกำหนดปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ปัญหาที่อยากแก้
ปัญหาที่เกิดขึ้นที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ คือความไม่ยั่งยืนต่อเนื่องจากการพัฒนาในโครงการต่างๆ เช่น บางโครงการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้วก็ไม่ต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน
ความดีที่อยากทำ
การใช้ชีวิตบนศาสตร์พระราชาโดยการใช้หลักการทำงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาเป็นต้นแบบในการพัฒนา และการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยมีเป้าหมายหลักคือสร้างหมู่บ้านทับเกวียนทองเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง “หมู่บ้านประชารัฐตามรอยเท้าพ่อ”
กระบวนการพัฒนาชุมชนคุณธรรม
๑.ศึกษาและทำความเข้าใจปัญหาของชุมชนโดยใช้หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาประยุกต์และปรับใช้
๒.เลือกวิธีการแก้ไขปัญหา ครอบครัวแต่ละคนต่างฝ่ายหันไปดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๓.การจับกลุ่มเพื่อเพิ่มพลังในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนเมื่อประสบผลสำเร็จ แต่ละครัวเรือนจึงเริ่มร่วมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันและกัน
๔.การเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้นำชุมชนเป็นตัวจักรสำคัญในการประสานงานระหว่าง “พลังบวร”
๕.การเปิดรับโอกาสจากภายนอกและสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
๖.นำชุมชนเข้าสู่การแข่งขันทุกรูปแบบเพื่อยกระดับความสามารถของชุมชน การเข้าสู่การแข่งขันต่างๆ เพื่อได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ
๗.ถ่ายทอดความรู้เป็นต้นแบบและขยายเครือข่าย
๘.การประชาสัมพันธ์กิจกรรม และให้บริการอื่นๆ
๙.ประเมินผลและทบทวนปัญหา เพื่อนำไปสู่วิธีการพัฒนาต่อไป
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ผนวกกับการนำหลักคำสอนทางศาสนา และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้นั้นส่งผลให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีความสามัคคีกันในชุมชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่ได้ออกไปทำงานต่างที่ เกิดความภาคภูมิใจในชุมชนของตนเอง
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
๑.พัฒนาชุมชนที่มีขนาดเล็ก และไปจนถึงชุมชนใหญ่ มีการจัดกลุ่มเพื่อความใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหา ระเบิดปัญหาจากภายใน และใกล้ชิดการเข้าใจ เข้าถึงคนทุกคนในชุมชน
๒.นำหลักพลัง “บวร” ไปใช้ร่วมกับ “พลังประชารัฐ”
๓.ผู้นำชุมชนเป็นกลไกลสำคัญมากในการพัฒนาแต่ละด้าน
๔.การสร้างความยั่งยืนด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
๕.การประชาสัมพันธ์ที่สร้างความเข้าใจอย่างทั่วถึง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอย่างเป็นระบบ
แสดงความคิดเห็น