“อดีตบรรพบุรุษร่วมสร้าง
ปัจจุบันเราร่วมช่วยกันฟื้นฟู
อนาคตส่งต่อให้ลูกหลาน”
จุดเริ่มต้นของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลหนองขาว มีแนวคิดในการตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อก่อให้เกิดการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลของพี่น้องสมาชิกและผู้นำชุมชนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน อีกทั้งส่งเสริมสนับสนุนการจัดระบบสวัสดิการของชุมชนหมู่บ้านและเชื่อมโยงเป็นกองทุนสวัสดิการในระดับตำบลเพื่อสร้างพลังร่วมของภาคชุมชนในการพัฒนาระบบสวัสดิการจากฐานราก และพัฒนาความมั่นคงในชีวิตของสมาชิกและเป็นหลักประกันสำหรับผู้นำชุมชนที่อุทิศตนเองทำงานเพื่อส่วนรวม มีการจัดสวัสดิการชุมชนพื้นฐาน เรื่อง เกิด เจ็บ ตาย การศึกษา การกีฬา การต่อต้านยาเสพติด อาชีพ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส/คนพิการ วัฒนธรรมประเพณี สาธารณประโยชน์และภัยพิบัติ ที่ดูแลสมาชิกและคนในชุมชน เช่น องค์กรการเงินชุมชน สภาองค์กรชุมชน ฯลฯ นอกจากนี้ เทศบาลตำบลหนองขาวเข้ามาสนับสนุนงบประมาณและเป็นองค์กรหนุนเสริมในการดำเนินงาน ในการส่งเสริมสนับสนุนประเพณีวัฒนธรรม และสนับสนุนของรางวัลในงานบุญประเพณีต่าง ๆ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป้นพื้นที่ต้นแบบ
หากจะพูดถึงหนองขาวก็ต้องเอ่ย การรำเหย่ย การรำกลองยาว ละครเพลงพื้นบ้านที่นำวิถีชีวิตของคนในตำบลหนองขาวมานำเสนอเป็นละครพื้นบ้านเรื่อง
“ไอ้บุญทองบ้านหนองขาว”
กองทุนสวัสดิการชุมชนยัง พยายามที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านไว้ โดยได้รวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ บ้านหนองขาว อาทิ เช่น เรื่อง ความเชื่อพื้นบ้านของคนหนองขาว เช่น เรื่องหม้อยาย เมื่อลูกหลานบ้านไหนแต่งงานและมีบ้านของตนเองจะต้องมีการรับหม้อยายไปไว้ที่บ้านเพื่อคุ้มครองให้มีความเจริญรุ่งเรือง
การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี
งานบวชพระ ตำบลหนองขาวจะใช้ม้าในการนำนาคไปอุปสมบท เรียกว่า แห่นาค โดยนาคจะได้รับการแต่งกายอย่างสวยงาม พร้อมกับม้าก็ได้รับการแต่งประดับอย่างสวยงาม และจะต้องใช้ม้าที่เต้นได้ตามจังหวะเสียงเพลง
การอนุรักษ์วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่น
ที่มีรสชาติอร่อยและแตกต่างจากชุมชนอื่นๆและเป็นอาหารคาวหวานที่ได้รับความนิยมจากบุคคลโดยทั่วไป อาทิ เช่น แป้งจี่แกงที่มีส่วนผสมของถั่วเขียว ได้รับความนิยมอย่างมาก
การอนุรักษ์วัฒนธรรมความบันเทิง
กิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย อาทิ เ ช่นรำเหย่ย กลองยาว ละครเพลงพื้นบ้านที่นำวิถีชีวิตของคนในตำบลหนองขาวมานำเสนอเป็นละครพื้นบ้าน เรื่อง “ไอ้บุญทองบ้านหนองขาว”
การฝีมือต่างๆ
การทอผ้าขาวม้า และผลิตภัณฑ์ผ้าทอ เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของตำบลหนองขาวในเรื่อง “ผ้าขาวม้าร้อยสี ของดีตำบลหนองขาว” ทำให้เกิดกลุ่มต่างๆ ในการทอผ้า กลุ่มผ้าสหกรณ์บ้านหนองขาว กลุ่มสินค้าโอท็อป
บทบาทกองทุนวัฒนธรรม ในการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม
กองทุนวัฒนธรรมกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลหนองขาวมีบทบาทในการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม ทั้งจากคณะกรรมการและสมาชิก พร้อมที่ปรึกษา กองทุนฯ จะร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งสนับสนุนทางตรงและทางอ้อม เช่น
การเป็นผู้สนับสนุนเงินงบประมาณในกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ในชุมชน
การสนับสนุนของรางวัลแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม สนับสนุนงบประมาณ
ส่งเสริมการเรียนการสอนภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทอผ้า การรำเหย่ย การตีกลองยาว การทำอาหารพื้นบ้าน
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ตำบลหนองขาวได้รับการพัฒนาและส่งเสริมจากจังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี และปัจจุบันได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ มาท่องเที่ยวมากขึ้น และยังเป็นสถานที่ใช้ในการถ่ายทำสารคดีของทีวี สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากโรงเรียน มหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ การที่กองทุนสวัสดิการชุมชนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ยังทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามในอดีตมีผู้สืบสานจวบจนถึงปัจจุบัน และยังทำให้ชาวบ้านมีความขยันขันแข็ง รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยความเต็มใจ ตามคำขวัญของคนหนองขาวได้กล่าวไว้ว่า “อดีต บรรพบุรุษร่วมสร้าง ปัจจุบัน เราช่วยกันฟื้นฟู อนาคต ส่งต่อให้ลูกหลาน”
ผู้ประสานงานในที่ :
นางลำพัน ครูทอง
มือถือ ๐๘๑ ๙๔๗๒๐๔๗
แสดงความคิดเห็น