กว่าจะมาเป็นวันนี้
เพลงพื้นบ้านไม่ได้เป็นเพียงเพลงที่เอาไว้ขับร้องตามงานรื่นเริง หรือเพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลายเท่านั้น แต่นับว่ามีความในด้านคุณค่าประเพณีวัฒนธรรม เพราะแต่ละเพลงล้วนแฝงเรื่องราว วิถีชีวิตของคนในชุมชนแต่ละชุมชนเอาไว้ สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับว่าชาวบ้านมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมือนหรือต่างกันเพียงไร นอกจากนั้นแล้ว เพลงพื้นบ้านยังมีคุณค่าทางจิตใจ และคุณค่าทางสังคม ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชน เกิดความรักความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อที่จะถ่ายทอด อนุรักษ์ สืบสาน สืบทอด ส่งต่อเพลงพื้นบ้านเหล่านั้นที่เริ่มทยอยสูญหายไปให้ฟื้นคืนกลับมาและยังคงอยู่คู่สังคม
กลุ่มวัฒนธรรมตำบลพนมรอก (รำบอกบท) ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ มี จำนวนสมาชิกองค์กรทั้งสิ้น ๑๗ คน แบ่งเป็น ชาย ๒ คน หญิง ๑๕ คน
โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มวัฒนธรรมตำบลพนมรอก (รำบอกบท) ทั้งสิ้น ๓ ประการ ประกอบด้วย
๑.เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน “รำบอกบท” ส่งต่อผ่านการหลักสูตรวัฒนธรรมพื้นถิ่นยัง โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๒.เป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายโดยใช้เพลงพื้นบ้าน “รำบอกบท” ดนตรีพื้นบ้านบำบัด
๓.เป็นการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มโดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อม
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ภายหลังการจัดตั้งกลุ่มวัฒนธรรมตำบลพนมรอก (รำบอกบท) นั้น ทางกลุ่มได้มีการดำเนินงานโดยนำเอาเพลงพื้นบ้านมาเป็นหลักในการทำกิจกรรม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ คือความต้องการอนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน “รำบอกบท” ให้คงอยู่ รวมถึงช่วยส่งเสริมให้มีการออกกำลังกาย และเกิดการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชนซึ่งมีวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยขน์
กิจกรรมสำคัญที่กลุ่มดำเนินการมาแล้วนั้นประกอบด้วย
๑.งานครบรอบวันคล้ายวันมรณภาพของหลวงตาคล้าย
๒.งานต้อนรับกฐินประจำปี
๓.รำในกิจกรรมต่างๆ ที่ได้รับแจ้ง เช่น ส่งประกวดรณรงค์ให้ผู้สูงอายุแปรงฟัน ของ สป.สช. โดยใช้เพลงพื้นบ้าน (ที่ ๒ ของจังหวัดนครสวรรค์)
ความท้าทาย
รำบอกบทนั้น เป็นเพลงพื้นบ้านในตำบลพนมรอกที่กำลังจะสูญหายไปกับกาลเวลา อุปสรรคที่เห็นได้ชัดคือ ด้วยการก้าวไปข้างหน้าของสื่อและเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีความทันสมัยมากขึ้น อีกทั้งยังเข้าถึงได้ง่ายเพียงแค่มีสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต ทำให้เด็กรุ่นใหม่ผูกติดอยู่กับสื่อบันเทิงสมัยใหม่ ไม่เห็นคุณค่า ความสำคัญของเพลงพื้นบ้าน จึงเกิดการระดมความคิดเพื่อก้าวข้ามปัญหาดังกล่าว โดยใช้วิธีการดึงเอากลุ่มของสภาเด็กและเยาวชนตำบลพนมรอก เข้ามาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มวัฒนธรรมตำบลพนมรอก ถือเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างวัย อีกทั้งยังให้เด็กและเยาวชนได้สัมผัสถึงเพลงพื้นบ้าน เพื่อได้ตระหนักรู้ และเห็นคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมของชุมชน จนนำไปสู่การอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอด และส่งต่อ ให้เพลงพื้นบ้านรำบอกบทยังคงอยู่คู่กับตำบลพนมรอกสืบไป
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
จากการดำเนินงานของกลุ่มวัฒนธรรมตำบลพนมรอก (รำบอกบท) นั้นนับว่าประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ และสอดคล้องกับจุดประสงค์ในการก่อตั้งกลุ่มขึ้นมา เกิดการรวมกลุ่มกัน ได้ออกกำลังกายจากการทำกิจกรรม อีกทั้งยังทำให้คนในชุมชนตำบลพนมรอกยังภูมิใจกับเพลงบอกบทของกลุ่มวัฒนธรรมที่ยังคงสามารถรักษาเพลงพื้นบ้านของพนมรอกเอาไว้ได้ ซึ่งในหลายพื้นที่นั้นสูญหายไปเกือบหมดแล้ว
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
เป้าหมายในอนาคตของกลุ่มวัฒนธรรมตำบลพนมรอก (รำบอกบท) นั้นยังคงยึดตามวัตถุประสงค์เดิมในการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา ดังนี้
๑.เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน “รำบอกบท” ส่งต่อผ่านการหลักสูตรวัฒนธรรมพื้นถิ่นยัง โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๒.เป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายโดยใช้เพลงพื้นบ้าน “รำบอกบท” ดนตรีพื้นบ้านบำบัด
๓.เป็นการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มโดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อม
ผู้ติดต่อในพื้นที่
นายเผด็จ สงวนวงษ์ กลุ่มวัฒนธรรมตำบล
พนมรอก (รำบอกบท) โทร.๐๘๓-๐๘๒-๘๐๓๙
แสดงความคิดเห็น