community image

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบคุณธรรมเทศบาลตำบลหัวนา

อ.เมืองหนองบัวลำภู ต.หัวนา จ.หนองบัวลำภู
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 2 คน
cover

“ผักอินทรีย์โพธิ์ศรีสำราญ วิถีไทบ้าน

คนตำบลหัวนา”

ปี ๒๕๕๔ ชุมชนโพธิ์ศรีสำราญได้ตระหนักถึงการใช้สารเคมีที่แพร่หลายในภาคการเกษตรในชุมชน และพบผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน จากการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ร่วมกับเทศบาลตำบลหัวนา ภาคีเครือข่าย จึงได้ส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น โดยใช้พื้นที่รอบคันหนองน้ำสาธารณะกุดตาแมวสำหรับปลูกผักอินทรีย์ และได้ขยายพื้นที่แห่งที่ ๒ ไปยังโคกดอนงูสาธารณะ ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ได้รับการสนับสนุนระบบการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากสำนักงานพลังงานจังหวัดหนองบัวลำภู

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา จังหวัดหนองบัวลำภูได้กำหนดพื้นที่ตำบลหัวนาเป็นต้นแบบหัวนาโมเดล ในการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดหนองบัวลำภู ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร อุตสาหกรรมการค้าการลงทุน และเป็นต้นแบบในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการปลูกผักอินทรีย์ ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นในจังหวัดจำนวน ๗๕ แห่ง


เส้นทางความสำเร็จของการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรม

กิจกรรมการปลูกผักอินทรีย์โพธิ์ศรีสำราญ ที่ดำเนินการโดยสมาชิกกลุ่มจำนวน ๓๘ คน นั้นถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถนำมาเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างรูปแบบการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยนำหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับการผลิตผักอินทรีย์ มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่ม และตั้งกฎระเบียบในการ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและไม่ใช้สารเคมีต่างๆ แต่จะอาศัยการบริหารจัดการทรัพยากรของเกษตรกรที่มีในสภาพแวดล้อมที่มีอยู่โดยทั่วไป ซึ่งในการผลิตอินทรีย์นั้นจะต้องมีวินัยและความซื่อสัตย์ในการผลิต ซึ่งเป็นหลักคุณธรรมที่สมาชิกภายในกลุ่มได้ยึดไว้เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน จึงทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนสามารถนำไปสู่การเป็นต้นแบบของกลุ่มอื่นๆได้เป็นอย่างดี

เทศบาลตำบลหัวนาได้มองเห็นความเข้มแข็งของกลุ่มจึงได้สนับสนุนงบประมาณในด้านต่างๆ และประสานหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ให้มีกิจกรรมร่วมในพื้นที่ จึงเกิดการบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม ยึดหลักกติกาของกลุ่มซึ่งกติกานั้นได้กำหนดขึ้นโดยสมาชิกในกลุ่มเอง และพลังยึดเหนี่ยวจิตใจ คือการเดินตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ จนสามารถเป็นต้นแบบด้านคุณธรรมได้


ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

๑.เกิดการพึ่งพาตนเอง คนในชุมชน ดำเนินชีวิตด้วยหลักคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา มีความกตัญญูรู้คุณ และส่งเสริมการสืบทอดประเพณีท้องถิ่นที่โดดเด่น เช่น ประเพณีสรงน้ำพระภูเก้า ประเพณีบุญข้าวสาก(สารท)

๒.ชุมชนหลุดพ้นปัญหาอาชญากรรม ลดละเลิกอบายมุข สิ่งเสพติด การพนัน หลุดพ้นปัญหาหนี้สิน มีแหล่งทำกินและที่อยู่อาศัยของตนเอง มีสัมมาอาชีพและรายได้ที่มั่นคงขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมลดลง มีระบบสวัสดิการในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน

๓.มีการสืบทอดรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามจากรุ่นต่อรุ่น เกิดชื่อเสียงภาพลักษณ์ที่ดี และหน่วยงานภายนอกให้การยอมรับ

๔.เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ การใช้พลังงานทดแทน การจัดการขยะชุมชน มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป จึงมีการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นและพื้นที่ข้างเคียง รวมทั้งในสถานศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ


ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม

๑.ความมุ่งมั่นพยายามที่จะขยายผลภูมิปัญญา องค์ความรู้ของตนเองต่อสังคมภายนอก ให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปขยายผลต่อ และพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จนี้

๒.การพัฒนาทีมงาน มีสื่อ หรือมีฐานการเรียนรู้สำหรับการศึกษาดูงานขององค์กรภายนอก เช่น จัดทำเฟซบุ๊กเพจ “ผักอินทรีย์โพธิ์ศรีสำราญ- Community Support Agriculture” เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์แต่ละฐานเรียนรู้ พร้อมด้วยเทคโนโลยี QR Code เพื่อให้สะดวกในการเข้าถึงข้อมูล หรือมีนวัตกรรมการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของชุมชนท้องถิ่น

๓.ส่งเสริมให้สถานศึกษานำนักเรียนเข้ามาศึกษาดูงานเพื่อซึมซับกระบวนการต่างๆ และนำไปใช้ในการต่อยอดต่อไป

ผู้ประสานงานติดต่อในพื้นที่ : นายสุขสันต์ ภาเชียงคุณ มือถือ ๐๘๙-๒๗๔๖๑๙๓ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ เทศบาลตำบลหัวนา จังหวัดหนองบัวลำภู

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายสุขสันต์ ภาเชียงคุณ ๐๘๙-๒๗๔๖๑๙๓

แสดงความคิดเห็น

profile