“โครงการงานศพปลอดเหล้า
กินข้าวในกระติ๊บ”
สังคมไทยมีการสืบทอดประเพณีต่างๆมาอย่างยาวนาน ทั้งในเรื่องของขนบธรรมเนียม จารีตและวิธีปฏิบัติที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน แต่ปัจจุบันกลับพบปัญหาเรื่องเหล้า เบียร์ และอบายมุข ในงานประเพณีต่างๆอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานศพ งานแต่งงาน ฯลฯ จนกลายเป็นเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติจนเกิดเป็นภาพที่คุ้นตา หากปล่อยค่านิยมเหล่านี้ ฝังรากลึกลงไปในจิตสำนึกของคนไทย ไม่ช้าวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามก็อาจจะลบเลือนหายไปด้วย รวมทั้งเป็นการสร้างต้นแบบที่ไม่ดี ตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน
เทศบาลตำบลนาอ้อ จึงได้ริเริ่ม “โครงการงานศพปลอดเหล้า กินข้าวในกระติ๊บ” ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๕๗ โดยเริ่มจากงานศพ ซึ่งในการจัดงานศพจะมีการเลี้ยงอาหารและนำเอาถุงพลาสติกมาใส่บรรจุข้าวเหนียวเพื่อไว้ให้แขกที่มาร่วมงานศพรับประทาน แต่จากข้อมูลทางวิชาการกล่าวว่าอาจจะมีน้ำมันในกระบวนการผลิตถุงพลาสติกหลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นอันตรายและสามารถเป็นสารก่อมะเร็งได้ จึงเป็นที่มาของการนำกระติ๊บมาใช้ในงานศพแทนการใช้ถุงพลาสติก และห้ามมีเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ รวมทั้งอบายมุขต่างๆในงานด้วย
เส้นทางความสำเร็จของการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบด้านคุณธรรม
๑.ประชาสัมพันธ์โครงการผ่านเสียงตามสายของเทศบาลตำบลนาอ้อ
๒.จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์งานศพปลอดเหล้า ติดทางเข้าหมู่บ้านและในบริเวณหน้างาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักของประชาชน
๓.ให้การสนับสนุนค่าเครื่องดื่มสมุนไพร ให้กับงานศพ เพื่อรณรงค์รักษ์สุขภาพ จากกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นเทศบาลตำบลนาอ้อ โดยให้คนในชุมชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องดูแลว่างานศพนี้ ปลอดเหล้า ๑๐๐% หรือไม่
๔.ติดตามประเมินผลทั้งก่อนดำเนินโครงการ เป็นระยะ เพื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยมีการประมาณระหว่างดำเนินโครงการ และหลังจบดำเนินโครงการ
๕.คณะบริหารของเทศบาลตำบลนาอ้อ คณะกรรมการหมู่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ รวมไปถึงประชาชนในตำบลนาอ้อตระหนักถึงข้อดีของโครงการนี้
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
๑.เจ้าภาพลดค่าใช้จ่ายในส่วนของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในการจัดงานศพ ลดการทะเลาะวิวาท ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนในการไม่เสพสิ่งเสพติด ไม่เล่นการพนัน ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการเอาชนะยาเสพติดในขั้นแรก อีกทั้งประชาชนยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น ปลอดภัยจากโรคมะเร็ง
๒.มีกลุ่มจิตอาสาที่เรียกว่ากลุ่ม “องค์กรผู้ อุทิศตนเพื่อชุมชน” จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือในชุมชนด้านการจัดการงานศพโดยเฉพาะ โดยจะช่วยตั้งแต่การจัดเตรียมสถานที่ การจัดทำประวัติ ตกแต่งเมรุ รำหน้าไฟ และมีรถแห่ศพค่อยให้บริการ
๓.มีการถ่ายทอดนวัตกรรมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
ความสามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคนั้น ปัญหาหรืออุปสรรคส่วนใหญ่ของโครงการงานศพปลอดเหล้ากินข้าวในกระติ๊บ จะเป็นเรื่องระหว่างการจัดงานศพ ยังมีการแอบดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บ้าง ซึ่งถ้างานศพหลังใด ไม่ปลอดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 100% งานศพนั้น จะไม่ได้รับค่าสนับสนุนน้ำดื่มน้ำสมุนไพรจากกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น เทศบาลตำบลนาอ้อ โดยแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ คือ ให้คนในชุมชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องดูแลว่างานศพนี้ ปลอดเหล้า 100% หรือไม่
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
การสืบสาน รักษา และต่อยอดกระบวนการดำเนินงาน ถ่ายทอดให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น บทเรียนเรื่อง “แนวคิดของการจัดตั้งโครงการ และขั้นตอนวิธีการดำเนินโครงการ” ในการที่จะนำไปต่อยอด ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งแบ่งกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้
๑.แนะนำตัววิทยากรโครงการ
๒.กล่าวถึงแนวคิดของการจัดตั้งโครงการฯ
๓.กล่าวถึงกระบวนการ และขั้นตอนวิธีการดำเนินโครงการฯ
๔.สรุปและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาดูงาน
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :
นางนิตญา เชื้อบุญมี
มือถือ ๐๘๗ ๒๒๔๗๖๗๖ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบคุณธรรมเทศบาล
ตำบลนาอ้อ จังหวัดเลย
แสดงความคิดเห็น