community image

ชุมชนตำบลเขาชนกัน

อ.แม่วงก์ ต.เขาชนกัน จ.นครสวรรค์
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 2 คน
cover

“พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้

ขิงข่าตะไคร้ อยู่บ้านพี่น้อง”

         

ตำบลเขาชนกันนับว่าเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมที่สำคัญหลายอย่าง เนื่องจากคนในชุมชนนั้นมีผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจากหลายแหล่ง จึงทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมประเพณี แต่คนในชุมชนนั้นมีความยืนหยุ่น สามารถยอมรับกันได้อย่างกลมกลืน ไม่เคยเกิดปัญหาด้านประเพณีวัฒนธรรม สามารถผสมผสานประเพณีได้ อีกทั้งคนในชุมชนมีแกนนำที่ร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาตำบลให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีในทุกๆ ด้าน เช่น กลุ่มคนสูงอายุ มีชมรมผู้สูงอายุเป็นแกนนำที่สมัครใจมาทำกิจกรรมร่วมกันกว่า ๑๐๐ คนในโรงเรียนผู้สูงอายุ มีกองทุนสวัสดิการชุมชนดำบลเขาชนกัน ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงของคนในชุมชน ดูแลคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการจัดสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งคนในชุมชนร่วมกันทำแบบค่อยเป็นค่อยไปจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือเพื่อส่วนรวมของชุมชน โดยก้าวผ่านความเชื่อที่แตกต่างโดยเรียกแนวทางการพัฒนานั้นว่า “วัฒนธรรมนำพัฒนา”

เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         ในระยะแรกเริ่มมีการหาจุดเชื่อมต่อกันของคนในตำบลที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภายหลังจากผู้นำตำบลเขาชนกันได้ใช้รูปแบบในการทำงานร่วมกันมาหลายรูปแบบจึงพบว่า พระราชดำรัชของรัชกาลที่ ๙ ในเรื่องของหลักการทรงงานคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นั้นสามารถนำมาเป็นแนวทางในการทำงานและแก้ไข้ปัญหาต่างๆ เมื่อเกิดความคุ้นเคย ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการทำงาน เช่น ร่วมกันคิด ตัดสินใจ รับประโยชน์ เกิดช่องทางการทำงานด้านการพัฒนาที่หลากหลาย ตั้งแต่การมีอยู่มีกินในครัวเรือน โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ จนนำไปสู่ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริขึ้นที่ตำบลเขาชนกัน เพื่อให้กลุ่มคนที่สนใจ หรือพัฒนาอาชีพมาเรียนรู้ได้

         นอกจากนั้นตำบลเขาชนกันมีแนวคิดที่จะสร้างกติกา และข้อตกลงร่วมกันของในชุมชน ป้องกันปัญหาความขัดแย้งขึ้น คือ “ธรรมนูญตำบล” เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการจัดการตนเองของตำบลใน ๔ เรื่อง ประกอบด้วย เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีจิตอาสา คอยดูสถานที่ส่วนรวม ซึ่งคนในชุมชนต่างอาสามาช่วยกันด้วยความสามัคคีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน

         ช่วงแรกของการพัฒนานั้นมักจะมีความขัดแย้ง ความเห็นต่างของคนในชุมชน อีกทั้งยังไม่ตื่นตัวกับการพัฒนา โอกาสที่คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมีน้อย ผู้นำยังเข้าไม่ถึงประชาชน แต่ในระยะเวลาต่อมา การทำงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาของตำบลมีมากขึ้น โดยมุ่งเน้นชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และมีปัจจัยในการเกื้อหนุนมากขึ้น มีกระบวนการทำงานในเชิงลึก คือเข้าถึงประชาชนอยากแท้จริง จึงสามารถทำให้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         จากการดำเนินงานที่ผ่านมาโดยใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรมประเพณี พบว่าคนในชุมชนมีความร่วมมือ มีส่วนร่วมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากเวลามีงานในชุมชนตำบลเขาชนกันจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ชาวบ้านออกมาช่วยงาน มีส่วนร่วมกันมากขึ้นจากเดิมอย่างชัดเจน และมีความมั่นใจว่าชุมชนจะสืบทอดรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามจากรุ่นสู่รุ่น เพราะมองเห็นความสำคัญ มีกลุ่มองค์กรที่เข้มแข็งรองรับเพื่อสร้างความมั่นคงที่จะสืบสานการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม และที่สำคัญ ปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในชุมชน ได้ลดน้อยถอยลง และถูกแก้ไขอย่างเป็นระบบ

ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม

         ในการเสริมสร้างคุณธรรมให้มีความต่อเนื่อง โดยชุมชนมีความตั้งใจจะหาคนรุ่นใหม่มาสืบต่องานของตำบล ทั้งงานเก่าที่ยังดำเนินการอยู่ และงานใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยต้นทุนเดิมที่มีอยู่ คือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่สำคัญของตำบลที่จะสามารถสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อที่จะได้ขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน เช่น

ทุนที่เป็น “คน” มีปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และแกนนำของกลุ่มองค์กรที่มีในตำบล

ทุนที่เป็น “องค์กร” ที่มีความสำคัญของตำบล เช่น สภาองค์กรชุมชน สภาวัฒนธรรมตำบล ผู้สูงอายุ กลุ่มอาชีพ ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ

ทุนที่เป็น “ปัญญา” ที่ถือเป็นองค์ความรู้จากการปฏิบัติทำให้เกิดการสืบทอด หรือขยายผลตามภูมิปัญญา เกิดเป็นคลังปัญญาต่อไป


ผู้ประสานงานในพื้นที่

ชุมชนตำบลเขาชนกัน เลขที่ ๑๕๔ หมู่ ๙ ตำบลเขาชนกัน อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ๖๐๑๕๐

ผู้ประสาน: นายเสถียรพงษ์ ครบุรี

โทร ๐๘๑ ๙๘๒ ๒๓๒๒


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายเสถียรพงษ์ ครบุรี โทร ๐๘๑ ๙๘๒ ๒๓๒๒

แสดงความคิดเห็น

profile