“เกษตรกรรมก้าวหน้า ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย
ก้าวไกลผลิตภัณฑ์ ตะกร้อตะแกรง
แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำสืบสานวัฒนธรรมไทยพวน”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนคุณธรรมวัดใหม่ดงกระทงยาม ตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่กลางทุ่งโล่ง มีต้นไม้ร่มครึ้มเป็นดงอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณอำเภอศรีมหาโพธิ ชื่อดงกระทงยาม มีคำอธิบายจากคนในท้องถิ่น หมายถึงดงไม้ที่อยู่กลางทุ่งซึ่งเมื่อถึงฤดูน้ำหลากมาท่วมจะเวิ้งว้างแลดูคล้ายกระทงที่ลอยอยู่กลางน้ำ มีเสียงคล้ายฆ้องยามที่ดังขึ้นเป็นประจำ ชุมชนดงกระทงยาม มีชาวลาว-พวน เชื้อสายชาวพวนที่อพยพมาจากทางนครเวียงจันทน์ ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านดงกระทงยาม และเนื่องจากมีคนไทยอยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดปัญหาการแย่งที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตรเลี้ยงชีพ และการที่เป็นคนต่างถิ่นที่ได้อพยพมาทำให้เกิดความแตกต่าง ด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อต่างๆ ทำให้มีความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และเกิดปัญหาเรื่องความแตกแยกเกิดขึ้น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ใช้หลักการพัฒนาแบบ ๓ มิติ ๙ ขั้นตอนดังนี้ หลัก ๓ มิติ ผู้แทน “บ” บ้าน ผู้นำหมู่บ้านทุกหมู่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจชุมชนมาใช้ในการพัฒนาชุมชน ธำรงรักษาวัฒนธรรม จะมีการประชุมระเบิดจากข้างในทุกครั้ง ผู้แทน “ว” วัด หรือศาสนาคือ พระอธิการวัชระ ชุตินฺธโร เจ้าอาวาสวัดใหม่ดงกระทงยาม เป็นชุมชนคุณธรรมที่มีศาสนสถาน เป็นศูนย์กลางในด้านศาสนาโดยเจ้าอาวาสวัดจะมีการเข้าร่วมประชุมกับชุมชนทุกครั้ง ผู้แทน “ร” โรงเรียน หรือราชการ คือ ผู้แทนของส่วนราชการมีความสำคัญร่วมบูรณาการในการจัดกิจกรรมกับชุมชนทุกครั้ง เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยทางโรงเรียนสนับสนุนให้ความร่วมมือกับชุมชนตลอดมา
หลัก ๙ ขั้นตอนมีรายละเอียดดังนี้
๑.ประกาศเจตนารมณ์หรือข้อตกลงร่วมกัน
๒.กำหนดปัญหาที่อยากแก้ความดีที่อยากทำ
๓.จัดทำแผนพัฒนา
๔.ปฏิบัติตามแผน
๕.ประเมินความสำเร็จ
๖.ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติคนทำดี
๗.เสร็จแล้วทบทวน
๘.เพิ่มเติมกิจกรรมความดี
๙.สร้างองค์ความรู้ ขยายผลสู้ชุมชน
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
ในชุมชนมีปัญหาด้านการขาดความสามัคคี การมีส่วนร่วม การเสียสละและแบ่งปัน ผู้นำชุมชนของหมู่บ้านร่วมกันช่วยขจัดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น นำลูกบ้านมาระดมความคิดแลกเปลี่ยน และร่วมกันแก้ปัญหา ดังนี้ เช่น ใช้หลักประชาธิปไตยในการบริหารหมู่บ้าน ปลูกฝังคุณธรรมในครอบครัว สร้างความสัมพันธ์ทุกระดับ เด็กและผู้ใหญ่ ร่วมไปถึงการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดงกระทงยาม กลุ่มพัฒนาอาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันในชุมชน
ผลลัพธ์แห่งความเปลี่ยนแปลง
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากผู้คนในชุมชนได้ดำเนินการพัฒนาโดยใช้หลักการพัฒนาแบบ ๓ มิติ ๙ ขั้นตอน เรียบร้อยแล้ว ชุมชนนั้นมีหลักคุณธรรมร่วม มีความพอเพียง ยึดหลักพึ่งตนเอง มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความสุจริตในการทำงาน มีจิตอาสาช่วยเหลือกันในชุมชน และหลังจากที่ผู้คนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้เรียนรู้ระหว่างกันทำให้ผู้คนเกิดความรู้รักสามัคคี ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพ มีรายได้ มีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ผู้คนในชุมชนได้สร้างอาชีพอยู่ในพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ไม่ต้องเดินทางออกไปทำงานต่างที่ต่างถิ่น มีเวลาอาศัยอยู่กับคนในครอบครัว ครอบครัวรักใคร่กัน มีความอบอุ่น พ่อแม่มีเวลาอบรมเลี้ยงดู สั่งสอนลูกหลานให้รู้จักเคารพหน้าที่ เคารพกฎหมาย เมื่อครอบครัวอบอุ่น มีรายได้ ก่อให้เกิดการแบ่งปัน ความมีน้ำใจ มีความเสียสละเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
ผู้คนในชุมชนมีความต้องการที่จะยกระดับชุมชนคุณธรรมวัดใหม่ดงกระทงยามให้เป็นชุมชนคุณธรรมฯ บวร On Tour เพื่อให้มีผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ของชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ และมีเงินหมุนเวียนภายในชุมชน ผู้คนก็ทำงานอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านตนเอง ครอบครัวอบอุ่น สังคมสงบสุข
ข้อมูลการติดต่อ
ผู้ประสานงานชุมชน นายสวง กันหาพันธุ์
โทร ๐๘๙ ๙๓๐ ๐๖๘๔
พระอธิการวัชระ ชุตินฺธโร เจ้าอาวาสวัดใหม่ดงกระทงยาม
เบอร์โทรศัพท์ 081 982 8346
แสดงความคิดเห็น