“ดินแดนแม่คะนิ้ง งามพริ้งไม้ดอกเมืองหนาว
เด่นสกาวภูทุ่ง มีกุ้งปลาน้ำสาน
บ้านพ่อพระยาศรีโทน”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนวัดโพนทอง เป็นชุมชนที่มีความพร้อมทางด้านมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา วิถีชีวิต มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และอากาศดีตลอดทั้งปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย ในอดีตชาวบ้านดำเนินวิถีชีวิตแบบปกติทั่วไป แต่ด้วยการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมนำโดยเจ้าอาวาสวัดโพนทอง ร่วมกับผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการในพื้นที่ โดยมีวัดโพนทองเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ และสถานที่ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีด้านต่างๆ ทำให้คนในชุมชนหันมาใช้ชีวิตแบบพอเพียง พึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือกันระหว่างเครือญาติ ก่อให้เกิดความเข้มแข็ง สามัคคี มีจิตอาสา เห็นคุณค่าในรากเหง้าประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น มีการจัดงานวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญ การจัดทำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดโพนทอง การสร้างการจัดตั้งโรงทาน และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น จนได้รับการยกย่องจากหน่วยงานระดับจังหวัด และกระทรวงต่างๆ มากมาย
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
๑. มีผู้นำชุมชนที่เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระมหาชูเชิด ติสสโร เจ้าอาวาสวัดโพนทอง ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน นำพาให้คนในชุมชนประพฤติ ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม ดำรงวิถีชีวิตแบบพอเพียง และรู้จักแบ่งปันคนในสังคมรอบข้าง ก่อให้เกิดความสามัคคี และความมีจิตอาสาของคนในชุมชน ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ สามารถดำเนินการได้อย่างเข้มแข็งมีประสิทธิภาพ เป็นแบบอย่างที่ดี
๒. การดำเนินวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน บริโภคผัก ผลไม้ที่ปลอดสาร ส่งผลดีต่อสุขภาพ อนามัยของคนในชุมชน รู้จักแบ่งปันให้กับคนรอบข้าง และผู้ประสบภัยทั้งภายในชุมชน และภายนอกชุมชน
๓. ความภาคภูมิใจของมรดกภูมิปัญญาในท้องถิ่น ทำให้ชุมชนมีความรัก ความหวงแหน และ เห็นคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทุกคนมีความตระหนักที่จะรักษา และสืบทอดไว้ในชุมชน
ความท้าทาย
๑. ด้วยในระยะหลังกระแสการดำเนินชีวิตตามหลักทุนนิยมแพร่หลายสู่ประเทศไทยรวมถึงคนในชุมชน การดำเนินวิถีชีวิตจึงหันไปพึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากยิ่งขึ้น ต่างคนต่างทำมาหากิน เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว แต่ด้วยการขับเคลื่อนการดำเนินงานชุมชนคุณธรรม โดยทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน ทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการใช้วิถีชีวิตแบบพอเพียง การแบ่งปัน การเป็นจิตอาสา และความสามัคคีของคนภายในชุมชนมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นต้นแบบของชุมชนท้องถิ่น
๒. ด้วยพื้นที่โดยรอบชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของอำเภอภูเรือ และจังหวัดเลย จึงมีสถานประกอบการทางธุรกิจท่องเที่ยวเกิดขึ้นมากมาย เช่น ธุรกิจที่พัก โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการมาจากคนในพื้นที่อำเภอภูเรือ และมาจากนายทุนต่างจังหวัด แต่ด้วยความเข้มแข็ง และความภาคภูมิใจของคนในชุมชนจึงสามารถรักษาทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้ได้
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
๑. ชุมชนดำเนินวิถีชีวิตด้วยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต มีการปลูกพืชผักสวนครัวในครัวเรือน วัด สถานที่ราชการ ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน และสร้างสุขภาพที่แข็งแรงให้แก่ผู้บริโภคทั้งคนในครอบครัว และคนที่ได้รับการแบ่งปัน โดยสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนในชุมชนที่ได้ดำเนินชีวิตแบบวิถีพอเพียง และมีความสุขในการแบ่งปันให้แก่คนรอบข้าง
๒. ชุมชนมีความรัก ความหวงแหนในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น มีการถ่ายทอดสู่เยาวชนในชุมชน และคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ มีการร่วมกันระหว่างบ้าน วัด และหน่วยงานราชการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดโพนทอง เพื่อรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้สมัยโบราณ ให้ศึกษาเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
๑. วัด หน่วยงานราชการมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างต่อเนื่องโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เช่น การปลูกผักปลอดสาร การทำปุ๋ยหมัก การเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ และนำไปปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนสามารถพึ่งพาตนเอง มีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
๒. การพัฒนาวัด โรงเรียน และชุมชนให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้กับเยาวชน และบุคคลทั่วไป เพื่อให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นไม่สูญหาย เกิดความยั่งยืน
ข้อมูลการติดต่อ
พระมหาชูเชิด ติสฺสโร ๐๘๒-๑๑๘-๔๗๖๕
แสดงความคิดเห็น