community image

ชุมชนคุณธรรมวัดโคกหม้อ

อ.ทัพทัน ต.โคกหม้อ จ.อุทัยธานี
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 2 ตุลาคม 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 4 คน
cover

“บ้านโคกหม้อ ผ้าทอมัดหมี่ จักสานฝีมือดี

ประเพณีแห่ธง นางด้งกวัก ตักน้ำสรงพระ 

ก่อเจดีย์ทราย บายศรีสู่ขวัญ”

กว่าจะมาเป็นวันนี้

         ชุมชนคุณธรรมวัดโคกหม้อนั้นรวมสองหมู่บ้านไว้ด้วยกัน ได้แก่ หมู่ที่ ๒ บ้านเกาะพะยอม และหมู่ที่ ๓ บ้านโคกหม้อ ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนชุมชน พร้อมไปกับการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น คือ ผ้าทอลายโบราณบ้านโคกหม้อ คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นลาวครั่งที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเหนียวแน่น โดยสืบทอดวัฒนธรรมดังเดิม คือ วัฒนธรรมแบบหญิงทอผ้า มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ไว้เป็นวัตถุดิบในการทอผ้า เพื่อทำเครื่องนุ่งห่มไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน มีการอนุรักษ์การแต่งกาย โดยคนในชุมชนร่วมมือร่วมใจกันแต่งกายด้วยผ้าทอบ้านโคกหม้อในทุกเทศกาล


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ

        การดำเนินงานขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมให้เป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ คือ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มุ่งให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีคุณธรรม มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความสมานฉันท์ ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทยมาใช้ในการดำรงชีวิต บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม ประสบความสำเร็จเชิงประจักษ์ ร่วมกันดำเนินการโดยยึดแนวทางการพัฒนาชุมชนคุณธรรม ตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๔) ดังนี้

         ๑.ประกาศเจตนารมณ์หรือข้อตกลงของผู้นำชุมชน และคนในชุมชน ที่จะพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนคุณธรรม เป็นลายลักษณ์อักษร ณ ศาลาการเปรียญวัดโคกหม้อ

         ๒.แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนพลังบวร 

         ๓.กำหนดเป้าหมายของชุมชนร่วมกันคือ ปัญหาที่อยากแก้ความดีที่อยากทำ

         ๔.จัดทำแผนพัฒนาส่งเสริมคุณธรรมของชุมชนเกี่ยวกับปัญหาที่อยากแก้ และความดีที่อยากทำ ตามความต้องการของชุมชน

         ๕.ดำเนินการตามแผน มีการจัดทำโครงการ/กิจกรรมแก้ไขปัญหาชุมชน ทั้งการส่งเสริมความดี กิจกรรมส่งเสริมความมีจิตอาสา

         ๖.ยกย่องบุคคลทำความดี และบุคคลผู้มีคุณธรรมในชุมชนรวมถึงบุคคลอื่นที่ทำความดีให้กับชุมชน

         ๗.ชุมชนมีการประเมินผลสำเร็จตามโครงการ/กิจกรรม ที่ระบุไว้ในแผนฯทำให้คนในชุมชนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

๘.ขยายผลเพิ่มเติมใน ๓ มิติ คือจัดกิจกรรมส่งเสริมหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม

         ๙. ชุมชนมีแหล่งเรียนรู้/ศูนย์การเรียนรู้ สำหรับถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้กับชุมชน หรือหน่วยงานอื่นๆ

         นอกจากนี้ชุมชนคุณธรรมวัดโคกำหม้อ ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนใช้การบูรณาการร่วมกัน ของ “บวร”โดยการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน แหล่งเรียนรู้ด้านอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพ


ความท้าทาย

         เริ่มแรกที่มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน จัดตั้งเป็นชุมชนคุณธรรมวัดโคกหม้อ คนในพื้นที่บางส่วนมีความกังวลใจว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การประมินตนเองเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มีการรวมพลัง ในรูปแบบ “บวร” อย่างจริงจังและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี ได้ให้คำแนะนำและลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอทำให้สามารถดำเนินการยกระดับเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบอย่างปัจจุบัน


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         การขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมส่งผลมีความสงบสุขในชุมชน ปัญหาต่างๆ ลงลง รวมทั้งเกิดสิ่งดีงามในชุมชน คือ คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต รวมทั้ง ประชาชนยังคงสืบทอดประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตและชาติพันธุ์ของตนไว้ได้หลายอย่าง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ได้แก่ การทอผ้าลายโบราณบ้านโคกหม้อ การแต่งกายด้วยผ้าซิ่นตีนแดงในทุกเทศกาลประเพณี อาหารพื้นเมือง ศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรม (การรำเซิ้งกระสวย) ตลอดจนภูมิปัญญาด้านสมุนไพร นำอัตลักษณ์และภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน

เป้าหมายที่จะเดินต่อ

         ชุมชนคุณธรรมวัดโคกหม้อมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนชุมชนให้มีความสามัคคีในการร่วมกันส่งเสริม ดำเนินกิจกรรมในทุกมิติที่สะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ทุกสาขาอาชีพสามารถอยู่ร่วมกันได้จนเกิดการรวมกลุ่มกัน เป็นการใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ในเกิดประโยชน์ เกิดการบูรณาการร่วมกัน สร้างภูมิคุมกันให้กับคนในชุมชน ร่วมกันสืบสาน ถ่ายทอด ภูมิปัญญาด้านหัตถศิลป์การทอผ้าพื้นบ้านของบ้านโคกหม้อ ให้เป็นอาชีพหลักสามารถเลี้ยงดูคนในชุมชนอย่างมีคุณภาพ ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งสันติสุขที่ยั่งยืน


ข้อมูลการติดต่อ

นายตุ๊ ทาทำนุก ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลโคกหม้อ ๐๘๑-๗๓๓-๙๘๓๙


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายตุ๊ ทาทำนุก ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลโคกหม้อ ๐๘๑-๗๓๓-๙๘๓๙

แสดงความคิดเห็น

profile