ชุมชนคุณธรรมวัดเจดีย์ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จัดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะ ประเพณีและวัฒนธรรม ดั้งเดิมชาวบ้านชุมชนคุณธรรมวัดเจดีย์ส่วนใหญ่เป็นชาวนครไทย ที่อพยพมาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่บ้านคอนสาร ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๓๓๗ ตามคำเชิญชวนของหลวงพิชิตสงคราม เจ้าเมืองคอนสารคนแรกก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ชุมชนวัดเจดีย์มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เข้าวัด ขาดความเลื่อมใสศรัทธาในพระสงฆ์ ขาดความสามัคคี ความมีน้ำใจ ต่างคนต่างอยู่ ไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต่อมาในปี ๒๕๔๕ วัดเจดีย์ได้มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสองค์ใหม่ คือ พระครูนันทเจติยาภิรักษ์ โดยท่านพระครูแก้ปัญหา โดยเริ่มจากสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับชาวบ้านก่อน มีการจัดระเบียบพระภิกษุสามเณร นำพระสงฆ์สวดมนต์ทำวัตรกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด ปรับภูมิทัศน์บริเวณวัด ปรับปรุงซ่อมแซมและทำความสะอาดกุฎี ศาลาการเปรียญ อุโบสถ เจดีย์และอาคารอื่นๆ ให้สะอาดเป็นระเบียบ และต่อมาเพื่อมีหน่วยงานองค์กรเข้าส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของวัดมากขึ้น และได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการวัด ญาติธรรม เด็กๆ ที่เข้ามาเล่นที่วัด ต่อจากนั้นได้จัดให้มีกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดึงผู้ปกครอง ญาติพี่น้องของผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้เข้าวัดทำบุญมากยิ่งขึ้น และได้จัดกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายกิจกรรม ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งด้านคุณธรรม ประเพณีอันดีงาม มีความรู้รักสามัคคีมีความสุขบนพื้นฐานวิถีไทยวิธีพุทธ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
การสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับชาวบ้าน โดยพระครูนันทเจติยาภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ ได้เริ่มปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในวัดและรอบๆ วัด ให้มีความสะอาดร่มรื่น ซ่อมแซมปลูกสร้างศาสนสถานอย่างเป็นระบบระเบียบ มีการปฏิบัติกิจของพระสงฆ์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งการริเริ่มจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการฟื้นฟูคุณธรรม จริยธรรมของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน กิจกรรมสวดมนต์ทำวัตรเย็น กิจกรรมงานบุญปลอดอบายมุข กิจกรรมจัดถุงยังชีพมอบแก่ประชาชนในชุมชน กิจกรรมค่ายคุณธรรมจริยธรรม ฯลฯ นอกจากนี้ในวัดมีโบราณสถานโบราณวัตถุ ที่สำคัญ เช่น พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อ ๗๐๐ ปี เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของชุมชน มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะสมัยอยุธยา สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีอายุมากกว่า ๖๐๐ ปี
นอกจากนี้ยังมีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและครอบครัว
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
๑.ประชาชนมีความรักและความสามัคคี น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม มีการรวมกลุ่มเพื่อการประกอบอาชีพสร้างรายได้ของชุมชม ส่งผลให้ปัญหาต่างๆ ที่เคยมีลดลงและหายไปในที่สุด เช่น การลักขโมย การสูบบุหรี่ หรือการดื่มเครื่องดื่มของมึนเมาภายในวัด
๒.เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ศึกษาดูงานสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอคอนสาร ที่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป มักจะเข้ามาศึกษาดูงานอยู่เป็นประจำ
๓.การอนุรักษ์ สืบทอดวิถีวัฒนธรรมไทยคอนสารอย่างเหนียวแน่น เช่น การใช้ภาษาไทยคอนสาร การทำอาหารพื้นถิ่น การแต่งกายตามอัตลักษณ์ของชุมชน การอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้าน เล่นสะบ้า จะมีการเล่นกันเฉพาะประเพณีบุญเดือนสี่เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น และเลื่อมใสศรัทธาในกิจวัตรของพระสงฆ์ และเข้าร่วมกิจกรรมของวัดมากขึ้น
๔.ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความมัธยัสถ์ การออมในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจนเป็นต้นแบบการออมระดับจังหวัด
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
๑.การสร้างทายาทเพื่อรักษาสืบทอดศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของชุมชนให้คงอยู่สืบต่อไป
๒.การยกย่องเชิดชูเกียรติ บุคคลตัวอย่าง ครอบครัวตัวอย่าง ในสาขาต่าง ๆ
๓.เป็นศูนย์กลางของแหล่งเรียนรู้ครบวงจรที่สำคัญด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ของจังหวัดชัยภูมิ
๔.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จัดทำเส้นทางการท่องเที่ยววิถีชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง โดยเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
๕.เป็นศูนย์กลางของการประชาสัมพันธ์ธรรมะทางสื่อโซเชียล เช่น เพจเฟสบุ๊ค แอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นต้น
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ : พระครูนันทเจติยาภิรักษ์ มือถือ๐๙๕-๙๙๘๙๕๕๖ ชุมชนคุณธรรมวัดเจดีย์ ตำบลคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
แสดงความคิดเห็น