ชุมชนวัดพรหมราช เป็นวัดเก่าแก่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชน มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งข้าวปลาอาหารและผลไม้ มีความสมัครสมานสามัคคี เสียสละ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนหรือของท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี เช่น การอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์แบบโบราณดั้งเดิม
ทั้งด้านการแต่งกาย เช่น การนุ่งโจง เสื้อคอกระเช้า เสื้อลายดอก การละเล่นพื้นบ้านที่สำคัญ เช่น ปิดตาตีหม้อ การจับปลาไหล การปีนเสาน้ำมัน การก่อกองทราย การแสดงหมอลำกลอน การสรงน้ำพระพุทธรูป บูรพาจารย์และพระสงฆ์ การรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ โดยในกิจกรรมวันสำคัญหรือวันประเพณีต่างๆ จะปราศจากแอลกอฮอล์และการพนันฯลฯ
ประเพณีที่สำคัญที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน คือประเพณีสู่ขวัญขวัญข้าว มีการแห่ข้าวและพิธีสู่ขวัญข้าวโดยพราหมณ์ เพื่อให้ชุมชนได้สำนึกในบุญคุณของแม่โพสพที่ได้ดูแลเลี้ยงดูชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขและอุดมสมบูรณ์ ประเพณีไหว้พระพุทธบาทจำลอง ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเป็นปีที่ ๙๘
นอกจากนี้ยังอนุรักษ์อาหารพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อของชุมชน คือ ลาบหมี่ และแกงบอน อาชีพที่สำคัญของชุมชน นอกจากทำนา ปลูกผลไม้ คือการจักสานชะลอมแบบขัด ๒ ชั้น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น นิยมไว้ใส่ผลไม้อันเป็นอัตลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของชุมชน เพื่อเป็นของฝากให้กับผู้มาเยือนหรือนำมาฝากซึ่งกันและกันโดยไม่ใช้ถุงพลาสติก และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศตามโครงการ “การส่งเสริมพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด” ปี ๒๕๕๙ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนคุณธรรมวัดพรหมราช ได้ดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยอาศัยเครือข่ายของชุมชน ผู้นำในท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดได้แก่ พลังบวร ประชาชนในชุมชนมีความสามัคคีให้ความร่วมมือกับผู้นำเป็นอย่างดี วัดก็ได้รับการสนับสนุนจากพุทธศาสนิกชนให้ความร่วมมือ ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู นักเรียน มีกิจกรรมการเรียนรู้ภายในวัดพรหมราช เช่น การส่งเสริมการปฏิบัติธรรม การทำบุญในโอกาสต่างๆ การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
๑)ชุมชนคุณธรรมวัดพรหมราช ได้ส่งเสริมการจัดกิจกรรมวิถีถิ่นวิถีไทย ทั้งในกิจกรรมที่เป็นวันสำคัญของชุมชน ในวันสำคัญทางศาสนา ในวันสำคัญพิเศษตลอดปี
๒)นโยบายต่างๆ ที่ทางราชการได้ส่งเสริมได้ถูกนำมาถ่ายทอดแก่ประชาชนในชุมชน เช่น การส่งเสริมการนุ่งผ้าไทย สวมใส่ผ้าซิ่น การส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตย การแสดงกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมของคนในชุมชน การร้องรำ การละเล่นพื้นบ้านของเด็ก เยาวชน การแสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ได้ถูกนำมาแสดงถ่ายทอดในกิจกรรมที่สำคัญของชุมชน
๓)มีการประยุกต์ การดำรงชีวิตเศรษฐกิจ พอเพียงด้วยการดำเนินการด้านสืบสานวิถีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมไทยที่ดีงามเช่น ประเพณีนมัสการพระธาตุในวันมาฆบูชาซึ่งเป็นกิจกรรมการทำบุญประจำปีที่สำคัญของชุมชนเป็นศูนย์รวมประชาชนในชุมชนร่วมกิจกรรมพิธีเปิดงานไหว้พระพุทธบาทจำลองจัดได้อย่างยิ่งใหญ่ ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ประเพณีสงกรานต์ กิจกรรมก่อเจดีย์ทราย ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ กิจกรรมการสานชะลอมและตะเกียงหยวกกล้วย เป็นกิจกรรมสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมของท้องถิ่น ประเภทเครื่องจักสาน การสานชะลอมใส่ขนมและผลไม้ ซึ่งชุมชนยังคงอนุรักษ์และรักษาขนบธรรมเนียมแบบนี้ไว้ โดยไม่ใช้ถุงพลาสติกแต่ใส่ขนมพื้นเมือง และผลไม้เพื่อเป็นของฝาก และการทำตะเกียงหยวกกล้วย เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เกิดแสงสว่างและย่อยสลายได้ง่าย เป็นต้น
๔)มีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม อันเป็นทุนทางวัฒนธรรมและเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่โดดเด่น : ทางด้านอาหาร เช่น พล่าหมี่ แกงบอน ข้าวโป่ง ดอกจอกโบราณ ฯลฯ ทางด้านการละเล่นพื้นบ้าน เช่น กลองยาว รำโทน รำวงย้อนยุค และทางด้านการจักสานได้แก่ การจักสานชะลอมแบบขัด ๒ ชั้น
๕)เกิด“พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดพรหมราช” เป็นการจัดรวบรวมการดำรงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ดีงามส่วนหนึ่งของชุมชนและจัดแสดงเป็นนิทรรศการ
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
การรักษาความสามัคคีของคนในชุมชนไว้อย่างเหนียวแน่น การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ ด้วยดี เป็นเป้าหมายหลักของชุมชนคุณธรรมวัดพรหมราช เพื่อการเป็นสังคมแห่งคุณธรรม ชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดพรหมราช
ผู้ประสานงานพื้นที่ : นายธงชัย เชยสระน้อย มือถือ ๐๘๒-๑๓๕๘๖๘๖ ชุมชนคุณธรรมวัดพรหมราช ตำบลตูม จังหวัดนครราชสีมา
แสดงความคิดเห็น