ห้วยทรายพูดหวาน ขวัญบ้านเราดี สตรีสวยสด ไม่อดน้ำใจ ประชาธิปไตยนำยุค
สนุกถูกวัฒนธรรม นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
บำรุงเลี้ยงและมุ่งพัฒนาชุมชน”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนบ้านห้วยทรายมี ๔ หมู่บ้าน คนในชุมชนเป็นชาวผู้ไท นับถือศาสนาพุทธ มีภาษาพูดคือภาษาผู้ไท มีความสัมพันธ์กันแบบพี่น้อง มีความรัก ความสามัคคี พึ่งพาอาศัยกัน มีขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติตามฮีต ๑๒ คอง ๑๔ มีวัดหลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เป็นขวัญบ้านขวัญเมือง เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน และเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคน ชาวผู้ไทมีความเรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน รักความสงบ ไม่ชอบการรบพุ่งหรือแก่งแย่ง แยกตัวอิสระจากชนเผ่าอื่นๆ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
หลักสำคัญคือบทบาทศาสนสถาน ผู้นำทางศาสนา และบุคคลสำคัญของชุมชน มีการปลูกฝังทัศนคติ และแนวธรรมะปฏิบัติที่ถูกต้องในการดำรงชีวิตเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้คนในชุมชนต่อเนื่องยาวนาน สถาบันการศึกษาให้การสนับสนุนเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมของชุมชนอย่างต่อเนื่อง สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน นำองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดทำเป็นความรู้ สอนถ่ายทอดให้กับนักเรียนนักศึกษา เช่น การจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยเป็นแหล่งข้อมูลและเป็นที่ปรึกษาทางด้านวิชาการแก่ชุมชน สร้างศักยภาพชุมชนให้สามารถจัดการความรู้ในชุมชนของตัวเองได้ ผู้นำ “บวร” ของชุมชน มีบทบาทในการรวมกลุ่มร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนาฐานข้อมูลชุมชน กำหนดแนวทางและกิจกรรมการพัฒนาของชุมชนที่ยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ด้วยการคำนึงถึงศักยภาพ ทรัพยากร ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น สถาบันครอบครัวมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ การปลูกฝังค่านิยมจิตสำนึก และการสืบสานจารีตประเพณี เป็นศูนย์รวมใจเชื่อมโยงสายใยของคนให้มาร่วมในการพัฒนา และสิ่งสำคัญคือคนบ้านห้วยทรายมีความกตัญญูต่อบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ในชุมชน และเดินตามแนวทางอย่างถูกต้อง
ความท้าทาย
ผู้คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือ และยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งสอนของผู้นำทางศาสนา ไม่ค่อยกล้าแสดงออกหรือตัดสินใจด้วยตนเอง จึงเป็นผู้ตามที่ดีเสมอมา ต่อมาเมื่อเห็นพร้อมกันที่จะเข้าร่วมเป็นชุมชนคุณธรรม ได้ประชุมปรึกษาหารือและวิเคราะห์ชุมชนร่วมกัน โดยค้นหาจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค ในการพัฒนา พบว่าชุมชนมีความพร้อมและมีศักยภาพสูงทุกมิติการพัฒนา จึงร่วมกันพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต มีการทำงานแบบมีส่วนร่วม รวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างเข้มแข็ง และนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
การขับเคลื่อนพลังบวรส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ เนื่องด้วยประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก อาชีพรองทำสวนยางพารา การทำเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบริโภคอุปโภคในครัวเรือน มีการค้าขายบ้าง อาชีพเสริมมีการทอผ้า การจักสาน การถักไม้กวาด และกำหนดวันตลาดนัดทุกวันจันทร์ ด้านคุณธรรม ยังยึดถือปฏิบัติตามหลักคุณธรรมอย่างเคร่งครัด ทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ด้านขนบธรรมเนียมประเพณียึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน ยังคงอิงอยู่กับฮีต๑๒คอง๑๔ อันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธุ์ผู้ไท แม้จะเป็นวิถีเก่าแก่ แต่ยังคงนำมาซึ่งความผาสุก ความเจริญรุ่งเรืองเป็นเอกลักษณ์เป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์และท้องถิ่น และยังเป็นปัจจัยหลักในการดำรงความเป็นชนชาติของชนเผ่ามาโดยตลอด
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนได้ร่วมกันกำหนดทิศทางใหม่โดยปรับตัว ยืดหยุ่น ร่วมคิดสร้างสรรค์ ร่วมกันสร้างเสน่ห์และใส่เครื่องแบบให้ชุมชน ดังนี้
คนดีมีเสน่ห์ : รักการศึกษา เด็กได้เรียน ครูได้สอน เป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม สำนึกรับผิดชอบสุขทุกข์ของครอบครัว ชุมชน เสียสละ กตัญญู รู้รักสามัคคี รู้สิทธิหน้าที่ของตน มีน้ำใจอาทร
เครื่องแบบของคนดี : ไม่ชวนทะเลาะวิวาท ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ไม่มีการลักขโมย มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
สังคมดีมีเสน่ห์ : มีความรักความอบอุ่น มีฮีตมีคอง เผื่อแผ่เอื้อเฟื้อเครือญาติ พึ่งพากันพึ่งพาตนพึ่งพาธรรม มีขนบธรรมเนียม
เครื่องแบบสังคม : ประชาธิปไตย ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์สุข ร่วมพัฒนา ร่วมออกแบบชุมชน มีคุณธรรมมีธรรมะ รักสามัคคี มั่นคง ยั่งยืน พอเพียง อยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ
อยู่ดีกินดีมีเสน่ห์ : มีแหล่งอาหารใหม่ มีธนาคารอาหาร มีธนาคารพันธุ์พืช มีผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ มีเงินเก็บออมหนี้สินลดลง มีทิศทางการขายการท่องเที่ยว
เสน่ห์ของการมีความสุข : มีธรรมะ มีวัฒนธรรมที่ดีงาม มีศิลปวัฒนธรรม มีขนบธรรมเนียมประเพณี มีน้ำใจใฝ่ธรรมะ วันศีลรู้ละ วันพระรู้รวมจิตใจ
อัตลักษณ์ที่มีเสน่ห์ : วัดวาศาสนารุ่งเรือง คุณธรรมลือเลื่อง เฟื่องฟูเศรษฐกิจ มีวิถีชีวิตพอเพียง วัฒนธรรมเลอค่า พัฒนาสืบสาน ร่มเย็นเป็นสุข เรียบง่ายด้วยความพอเพียง
ข้อมูลการติดต่อ
นายภักดี เสียงล้ำ ๐๘๕-๖๔๓-๒๔๗๕
แสดงความคิดเห็น