“ถิ่นชาวประมง สักการะองค์หลวงพ่อดำ
งามล้ำเกาะแก่ง แหล่งท่องเที่ยวไทย
น้ำใสทะเลงาม สามนามแสมสาร”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนคุณธรรมฯ วัดช่องแสมสาร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านประมง โดยเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ก่อนจะขยายตัวขึ้น มีวัดช่องแสมสารที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวแสมสารไว้ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เคารพสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนคุณธรรมฯ วัดช่องแสมสาร โดยการนำของพระครูวิสาทรสุตากร เจ้าอาวาสวัดช่องแสมสาร เป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการนำหลักธรรมคำสอนของศาสนามาใช้ ในชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางศาสนาที่ประชาชนให้ความสำคัญ มีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการดำเนินชีวิต มีวิถีชีวิตของหมู่บ้านชาวประมง การรวมกลุ่มแม่บ้าน และมีความเข้มแข็งของพลังบวร การส่งเสริมและพัฒนาชุมชนด้วยคุณธรรม ด้วยการสร้างความร่วมมือ นำการพัฒนาตามกระบวนการขับเคลื่อนด้วยชุมชนคุณธรรม 9 ขั้นตอน ได้แก่ ๑)ประกาศเจตนารมณ์หรือข้อตกลงของชุมชน ๒)กำหนดเป้าหมายของชุมชน “ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ”๓)จัดทำแผนชุมชน ๔)ปฏิบัติตามแผน ๕)ติดตามประเมินผล ประเมินผลสำเร็จ ๖)ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลทำความดี ๗)เสร็จแล้วทบทวน ๘)ขยายกิจกรรม เพิ่มเติมกิจกรรมความดี ๙)การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ ขยายสู่ชุมชนอื่น
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
ชุมชนมีกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาประกอบอาชีพและอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมาก ในช่วงแรก ด้วยความต่างทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตของคนในชุมชนดั้งเดิม ซึ่งหนึ่งในปัญหานั้นคือการขาดจิตสำนึกในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่อมาได้มีการจัดตั้งกลุ่มชมรมอนุรักษ์ทะเลแสมสารขึ้นมา และได้มีการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกสร้างความรู้ความเข้าใจต่อคนในชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นำมาซึ่งโครงการจิตอาสาเก็บขยะเกาะแสมสาร ส่งผลให้คนในชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเกิดความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ทำให้ปัญหาและอุปสรรคได้รับการแก้ไข เป็นอย่างมาก
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
หลังจากดำเนินการรณรงค์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ คนภายในชุมชนมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ชาวบ้านมีความสมานสามัคคี ซื่อสัตย์สุจริต กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สำนึกรักบ้านเกิด ปัญหาความขัดแย้งในชาติพันธุ์ลดลง มีการสืบทอดวิถีชีวิตชาวประมงจากรุ่นสู่รุ่น เกิดองค์ความรู้ในการแปรรูปอาหารทะเลมีด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ชุมชนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมทำ เกิดโฮมสเตย์ต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญ ของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแหล่งศาสนสถานอย่างวิหารหลวงพ่อดำที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทั้งชาวบ้าน ชาวประมง ต่างให้ความเคารพนับถือและใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ รวมทั้งการลอดโบสถ์พระราหู ที่วัดช่องแสมสาร เป็นการเสริมสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว อีกทั้งยังมีจุดขายของฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนภายในวัดและบริเวณชุมชน ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียน ชาวบ้านอยู่อย่างมีความสุข ชุมชนมีความปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
สร้างชุมชนบ้านช่องแสมสาร ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ ที่มีชื่อเสียงของประเทศ ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือภายในชุมชุน โดยใช้พลังของ “บวร” จัดตั้งจุดรับบริการรถสองแถวนำเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว มีการอบรมพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี ผ่านโครงการมัคคุเทศก์น้อย จัดกิจกรรมโครงการจิตอาสาเก็บขยะบนเกาะแสมสารเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พัฒนาต่อยอดอาหารทะเล เพื่อการแปรรูปส่งออก ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขและยั่งยืน
ข้อมูลการติดต่อ
ผู้ประสานงาน (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด) นางนริศรา วงศ์วิลัย
เบอร์โทร ๐๘๑-๘๗๔-๑๑๒๙
ผู้ประสานงาน (ของชุมชนฯ)
นายณัฐพงศ์ พิทักษ์กรณ์
เบอร์โทร ๐๙๑-๘๗๔-๑๑๒๙
แสดงความคิดเห็น