“สัปปายสถาน ลานบุญลานธรรม เพื่อหลอมรวมสังคมให้มีคุณธรรม
สร้างชุมชนจิตอาสา”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
วัดชายคลองในปีพ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๕๑ ขาดช่วงต่อการพัฒนาว่างเว้นเจ้าอาวาส-พระสงฆ์ไปร่วม ๑๐ ปี หลังจากอดีตเจ้าอาวาสมรณภาพไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ สภาพวัดทรุดโทรมและชุมชนขาดการมีส่วนร่วม เสนาสนะชำรุดผุพัง บริเวณวัดรกร้าง กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของชุมชนได้ห่างหายออกไป จนในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้มีเจ้าอาวาสรูปใหม่และต่อมาก็ได้ก่อร่างสร้างคณะสงฆ์ขึ้นภายในวัด และเริ่มฟื้นฟูหลอมรวมชุมชนกับวัดให้เกิดความสามัคคีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการนำกิจกรรมมาบูรณาการร่วมกัน โดยร่วมกันพัฒนาจุดต่างๆ ให้ดีขึ้น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
หลังจากคณะสงฆ์กลุ่มใหม่ได้เกิดขึ้นในวัด ก็ได้เริ่มต้นพัฒนาวัดโดยเริ่มจากการพัฒนาคน นั่นคือการส่งเสริมการศึกษาให้พระเณรที่เข้ามาได้มีความรู้ในด้านปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรม-บาลี เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาควบคู่กับการปฏิบัติ พร้อมกันนั้นได้เริ่มปรับปรุงพัฒนาวัดในทุกภาคส่วน ชักชวนคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาวัดให้มีความพร้อม มีสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยได้ดำเนินการพัฒนาลานใต้ต้นไม้ไว้เป็นลานกิจกรรมหลักของวัด สร้างความแตกต่างให้กับชุมชน อิงลานธรรมตามแนวสวนโมกข์ ชักชวนประชาชน เยาวชนมาร่วมถมทราย เกลี่ยทราย และสร้างศาลา พร้อมทั้งติดตั้งไฟส่องสว่าง ตามลำดับเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งกลางวันและภาคกลางคืน
เมื่อสถานที่พร้อมแล้ว ภายหลัง กิจกรรมอบรมเยาชน นักเรียน กิจกรรมปฏิบัติธรรม ก็เกิดขึ้นมาเป็นลำดับ โดยมีนักเรียนโรงเรียนต่างๆ เข้ามาทำกิจกรรมอยู่เนืองๆ ได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาใต้ต้นไม้ ลานทราย ได้ทำกิจกรรมที่มีความแตกต่างจากภายใจห้องเรียน ส่วนพุทธศาสนิกชนก็ได้มีความแปลกใหม่ในการบำเพ็ญบุญกุศล ทาน ศีล ภาวนา ตามโอกาสอันสมควร
ความท้าทาย
เมื่อชุมชนรอบวัด ขาดการบ่มเพาะ ความห่างเหินจากพระพุทธศาสนาก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เหตุเพราะวัดขาดผู้นำทางจิตวิญญาณ ขาดผู้นำในการบ่มเพาะคุณธรรมศีลธรรมให้คนในชุมชน การปลูกศรัทธาให้คนเชื่อมั่น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ความท้าทายสำคัญตรงนี้คือ ทำอย่างไรให้เขาเชื่อมั่นและศรัทธา และพร้อมจะร่วมไม้ร่วมมือกับแนวทางที่มีในตัวผู้นำ คำตอบในเรื่องนี้จึงต้องพิสูจน์กันด้วยเวลาและข้อปฏิบัติ
ขั้นแรก ต้องปลูกศรัทธาในตัวเองก่อน คือเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำว่า มีความสามารถและจะสำเร็จได้
ขั้นสอง ต้องปลูกศรัทธาในคนรอบข้าง เพื่อสร้างแรงศรัทธาให้ขยายออกไป
ขั้นสาม ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อสร้างฐานความรู้ที่จะสื่อสารออกไปยังผู้อื่นต่อไป
ขั้นสี่ ต้องทำให้จริงและต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังคนให้มีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม มีศีลธรรม มากขึ้นกว่าเดิม
ขั้นสุดท้าย จะเกิดความสุขร่วมกัน เกิดความรู้รักสามัคคีร่วมกัน และเกิดจิตอาสาที่จะนำพาสังคมให้มีความเจริญต่อไป
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
- ชุมชนมีการร่วมไม้ร่วมมือกันมากขึ้น ในการทำกิจกรรมทั้งภายในชุมชน และภายในวัด เยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาดูแลรักษาวัดมากขึ้น มีเด็ก ๆ เข้ามาร่วมกวาดลานวัด ปัดกวาดบริเวณ เกลี่ยทราย ทำวัดให้มีความสะอาด สัปปายะ เหมาะแก่การทำกิจกรรมต่าง ๆ
- ชุมชนลดอบายมุข ลดการเล่นพนันภายในวัด การเล่นการพนันในเทศกาลต่าง ๆ
- ชุมชนร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา วันสำคัญต่าง ๆ และประเพณีอันดีงามของชาวพุทธมากขึ้น
- ชุมชนใช้ลานวัดเป็นสถานบำเพ็ญบุญกุศล ทาน ศีล ภาวนากันมากขึ้น
- เด็กนักเรียนที่มาร่วมกิจรรมที่นี่ ได้รับความรู้ มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ต่างได้บอกเล่ากับคนรอบข้าง และมีโอกาสกลับมาร่วมกิจกรรมอื่น ๆ อีกครั้ง
- ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามแนวทางนี้ เมื่อวัดต่าง ๆ ถือเอาเป็นหัวใจสำคัญในการเผยแผ่ ผ่านการสอดแทรกกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ประเพณีนิยมต่าง ๆ ก็จะสามารถคงไว้ และสืบสานต่อยอดไปถึงการปลูกศรัทธาที่ตั้งมั่นซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาที่ตามมา
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ลานธรรมลานวิถีไทย (ลานบุญลานธรรมวัดชายคลอง) แห่งนี้ มีแผนจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในด้าน
๑. จัดอบรมศีลธรรม คุณธรรม เรียนรู้พระพุทธศาสนาให้กับเยาวชนนักเรียน ในพื้นที่และใกล้เคียง
๒. จัดปฏิบัติธรรม บวชเนกขัมมจาริณี ประจำเดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเขามาปฏิบัติธรรม
๓. ส่งเสริมการจัดกิจกรรมประเพณีไทย เช่น กวนข้าวทิพย์ สงกรานต์ สารทเดือนสิบ ฯลฯ
๔. พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน
ข้อมูลติดต่อ
พระครูภาวนาธรรมประสิทธิ์ ๐๙๘ ๐๔๕ ๖๘๘๐
แสดงความคิดเห็น