community image

ชุมชนคุณธรรมลำประดา

อ.บางมูลนาก ต.ลำประดา จ.พิจิตร
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 1 คน
cover

“ตำบลลำประดา

ตำบลจัดการตนเอง”



         ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนลำประดานั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก รองลงมาเป็นรับจ้าง มีการช่วยเหลือกันระหว่างญาติพี่น้อง รวมถึงการมีส่วนร่วมในชุมชน ถึงแม้จะน้อยลงกว่าเดิมมา แต่ก็ยังคงมีอยู่ คนในชุมชนใช้ภาษาลาวยวน มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง แต่เมื่อเกิดการก้าวเดินไปข้างหน้าของยุคสมัย ส่งผลให้บริบทของชุมชนที่เคยเป็นอยู่นั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดกระแสทุนนิยม เกิดการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นกัน เกิดความแตกแยกในสังคม การผลิตพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขาย มีการใช้สารเคมี คนบางกลุ่มออกไปทำงานต่างที่ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น มีหนี้สินจำนวนมาก เกิดภาวะยากจน ปัญหาครอบครัวแตกแยก จึงเกิดบทสรุปเป็นนิยาม ว่า “ปัญหาของคนลำประดา คนลำประดาต้องแก้ไขเอง” เป็นคำตอบที่ชัดเจน

เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         จากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักคุณธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ให้คนในสังคมเห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น ให้คุณค่ากับความเป็นไทย และร่วมสร้างชุมชนนิยม จากแนวคิดดังกล่าวจึงได้ตั้งคณะทำงานส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนตำบลลำประดา และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นคณะทำงานตำบลจัดการตนเองพร้อมกับประกาศให้ตำบลลำประดาเป็น “ตำบลจัดการตนเอง” เมื่อปี ๒๕๕๓ มีเป้าหมายพัฒนาทั้ง ๔ ด้าน โดยใช้ยุทธศาสตร์ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำไปสู่การลงมือทำร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมเป็นภาพขับเคลื่อนตำบลคุณธรรมยุทธศาสตร์ตำบลจัดการตนเองตำบลดำประดา ประกอบด้วย

๑.ด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้หนี้สินของคนในชุมชนลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพเสริม จึงเกิดกลุ่มอาชีพต่างๆ ขึ้นมา เช่น โรงปุ๋ยชุมชนตำบล กลุ่มตุ๊กตาเปเปอร์มาเช่ กลุ่มสานตะกร้า เป็นต้น

๒.ด้านสังคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน การเสริมสร้างให้เกิดจิตอาสาในการช่วยง่ายกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น

๓.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีการทำข้อตกลงร่วมกันในชุมชน อนุรักษ์ และรักษาสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีการบริหารจัดการขยะ ลดการใช้สารเคมี เพิ่มพื้นที่สีเขียว

๔.ด้านสุขภาพ คนในชุมชนร่วมกันทำกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ มีโครงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสุขภาพ โรงพยาบาลตำบลมีมาตรฐาน บริการมีคุณภาพ พึ่งได้ ชุมชนมีการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพ


ธรรมนูญตำบลลำประดา

สู่การขับเคลื่อนตำบลคุณธรรม

ถือเป็นข้อปฏิบัติและกฎเกณฑ์ที่อยู่ร่วมกันของคนในชุมชน เป็นแนวทางที่แก้ไขปัญหาร่วมกัน และฝ่ายท้องถิ่น ท้องที่และประชาชนได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ธรรมนูญตำบล เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ ลานโพธิ์วัดหนองสะเดา โดยแบ่งออกเป็น ๕ หมวด ที่สำคัญ ประกอบด้วย

หมวดที่ ๑ บททั่วไป เป็นส่วนแรกที่อธิบายความหมายขององค์ประกอบของธรรมนูญตำบล

หมวดที่ ๒ เศรษฐกิจและทุนชุมชน ว่าด้วยการเศรษฐกิจและทุนในชุมชน สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนหรือธนาคารในชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในระดับตำบลสู่การพึ่งพาตนเองเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาอาชีพ

หมวดที่ ๓ สังคม การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นการดูแลปัญหาทางสังคมของชุมชน ตลอดจนมีการส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น

หมวดที่ ๔ เกี่ยวกับด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกครัวเรือน ชุมชน มีการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลอย่างถูกวิธี รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกัน

หมวดที่ ๕ สุขภาพ ว่าด้วยการดูแลสุขภาพคนในชุมชนครอบคลุมทุกเพศวัย

ทั้งนี้ ตำบลลำประดาได้เปิด “เวทีวาระประชาชน” ร่วมกับชาวบ้านเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบข้างนำไปสู่ความยั่งยืน ทุกวันที่ ๑๖ ของเดือน ได้รวบรวมประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในตำบลลำประดาและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม


เกิดกลไกการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

: ลำประดา โมเดล

๑)ผู้นำการเปลี่ยนแปลง จริงจังกับการพัฒนา

๒)วิธีคิดค่อยๆ เปิดออกเหมือนกะลาหงาย

๓)ความสัมพันธ์ในชุมชนเป็นแบบแนวราบ

๔)บทบาทพี่เลี้ยงมีความชัดเจน และเป็นแบบกะลาหงาย นโยบายมาจากประชาชน


ช่องทางติดต่อ

แสดงความคิดเห็น

profile