ชุมชนคุณธรรมวัดศิริมงคลวราราม มีความโดเด่น คือ มีชุมชนล้อมรอบ ๔ หมู่บ้าน ชาวบ้านมีความรักใคร่สามัคคีกันในชุมชน ในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เมื่อย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ คนในชุมชนเกิดวิกฤติความเสื่อมศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ในวัด ชาวบ้านขาดความสามัคคี เป็นหมู่บ้านที่ไม่ได้รับการพัฒนา ไม่มีจิตอาสา วัดและชุมชนขาดการเชื่อมโยงการบูรณาการ และไม่มีการประชุมปรึกษาหารือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งไม่มีจิตอาสาที่จะดำเนินงานบุญประเพณีดั้งเดิมของชุมชน อย่างประเพณี ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน
เมื่อพระครูสุตวรธรรมพินิจได้เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศิริมงคลวราราม ก็ได้เชิญผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านทั้ง ๔ หมู่บ้านเข้ามาเป็นคณะกรรมการของวัดและดูแลเรื่องระบบการเงินภายในวัด และมีการร่วมพูดคุยปรึกษาหารือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีทิศทางการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้รูปแบบของการมีส่วนร่วม ทั้งร่วมคิด รวมตัดสินใจ ร่วมทำ และร่วมรับผิดรับชอบในผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น ตลอดจนนำผู้มีจิตศรัทธาเข้าวัดทำบุญ และร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ จนเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับ ศรัทธาจากชาวบ้านมากขึ้น จนชาวบ้านเริ่มกลับมามีความสมัครสมานสามัคคีกัน ร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนมากขึ้น และผู้คนต่างมีความเคารพนับถือ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
๑.การสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในชุมชนก่อน โดยท่านพระครูสุตวรธรรมพินิจ เจ้าอาวาสวัด ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการชุมชน ได้ร่วมกันพูดคุย ปรึกษาหารือและดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อให้ชาวบ้านหันกลับมาเข้าถึงและศรัทธาในพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา
๒.กิจกรรมสวดมนต์ทำวัตรทั้งเช้าและเย็น ตลอดจนสอนหลักธรรมแก่คนในชุมชน ทำให้วัดเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัด และขยับขยายเป็นกิจกรรมอื่นๆในชุมชน
๓.ใช้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาและหลักประชาธิปไตย การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รวมทั้งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการแก้ปัญหาของชุมชนและหาทางออกร่วมกัน ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
จากการดำเนินงานขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม ทำให้เกิดความตระหนักในการปฏิบัติของชุมชน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม จนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการสร้างค่านิยมในการพัฒนาคุณธรรม จนเกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนี้
๑.น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชุมชน โดยจัดทำแปลงสาธิตการทำเกษตรในพื้นที่วัดบางส่วน เพื่อให้คนในชุมชนรอบๆ ได้มาศึกษาเรียนรู้และนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตน ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรมด้านความพอเพียง
๒.วัดและคนในชุมชน มีวินัย ยึดมั่นและมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน เคารพต่อกฎของชุมชน กฎหมู่บ้าน และกฎหมายบ้านเมือง โดยให้ความเคารพต่อกติกาชุมชน
๓.คนในชุมชนยึดมั่นในการประกอบอาชีพอย่างสุจริตชน ไม่มีการเบียดเบียนและสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น และไม่ทำให้ชุมชน หรือคนส่วนรวมเสียหาย
๔.วัดและชุมชนเป็นผู้มีจิตสาธารณะ จิตอาสา โดยทุกวันพระ คนในชุมชนจะร่วมกันทำความสะอาดหมู่บ้าน หรือวันไหนบ้านไหนจัดงาน คนในชุมชนจะร่วมกันช่วยงานจนเสร็จ ก่อเกิดพลังจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง
๕.คนในชุมชนเคารพนับถือผู้เฒ่า ผู้แก่ในหมู่บ้าน ดูแลบิดามารดา ผู้มีพระคุณ ถือเป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลังในเรื่องความกตัญญูกตเวทิตา รู้คุณผู้มีพระคุณ
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความต่อเนื่อง ด้วยการต่อยอดการดำเนินงานจากเดิมที่มีอยู่ ซึ่งมีการถอดบทเรียน แล้วนำมาวางแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปได้ดังนี้
๑.ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญวัดศิริมงคลวราราม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดและเรียนรู้คุณธรรมได้อย่างสม่ำเสมอ
๒.จัดระเบียบและออกแบบชุมชนให้เกิดการดำเนินงานชุมชนปลอดอบายมุข ปลอดยาเสพติด ชุมชนปลอดภัย เป็นชุมชนน่าอยู่
๓.การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น เน้นการพัฒนาคนเพื่อนำคนมาพัฒนาสังคม โดยการศึกษาเรียนรู้ในรูปแบบของการปฏิบัติ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
ผู้ประสานงานพื้นที่ : พระครูสุตวรธรรมพินิจ มือถือ ๐๙๔-๒๖๘๓๑๑๓ ชุมชนคุณธรรมวัดศิริมงคลวราราม ตำบลบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ
แสดงความคิดเห็น