community image

ชุมชนคุณธรรมบ้านเขายี่สาร

อ.อัมพวา ต.ยี่สาร จ.สมุทรสงคราม
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 3 ตุลาคม 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 3 คน
cover

“เรื่องราวเขายี่สาร สืบตำนานอันยิ่งใหญ่

ชุมชนพร้อมร่วมใจ มีวินัยช่วยดูแล”


กว่าจะมาเป็นวันนี้

         ชุมชนบ้านเขายี่สารเป็นชุมชนโบราณตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา อยู่ห่างไกลจากชุมชนอื่นๆ ในอดีตการเดินทางเข้าออกชุมชนเป็นไปด้วยความลำบาก มีแต่การสัญจรทางเรือเท่านั้น ชุมชนแห่งนี้จึงแทบจะตัดขาดจากชุมชนอื่นโดยสิ้นเชิง อีกทั้ง ชุมชนบ้านเขายี่สารเป็นพื้นที่น้ำเค็ม ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ไม่มีแหล่งน้ำจืดของตนเอง ต้องไปล่มนำน้ำจืดมาจากที่อื่น หรือรองน้ำฝนไว้ใช้เท่านั้น ดังนั้น นอกจากอยู่ห่างไกลความเจริญแล้ว ยังถือเป็นชุมชนที่มีความเป็นอยู่อัตคัด ยากลำบาก และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ชาวยี่สารต้องขวนขวาย ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด จนสามารถดำรงชีวิตมาได้ ทำให้ชุมชนบ้านเขายี่สารพัฒนาตนเองขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ที่มีสำนึกในความรัก และภาคภูมิใจในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ 

         

การพัฒนาชุมชนของชาวบ้านยี่สาร เริ่มต้นโดยชาวบ้านในชุมชนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันในมิติต่างๆ โดยมีวัดเขายี่สารเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการทำกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ และมีโรงเรียนวัดเขายี่สารเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ ถ่ายทอดและสืบต่อคณะละครหุ่นสายจากรุ่นสู่รุ่น สร้างรายได้และทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จัก

         นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนบ้านเขายี่สารยังร่วมแรงร่วมใจกันในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร ซึ่งเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ของคนในชุมชนซึ่งนำมามอบไว้ให้แก่พิพิธภัณฑ์ และโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในพื้นที่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ และยังมีการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทำผ้ามัดย้อมจากเปลือกไม้ธรรมชาติ การเผาถ่านไม้โกงกาง การทำอาหารพื้นบ้านจากผักชะคราม และขนมไทย


ความท้าทาย

         ชุมชนบ้านเขายี่สาร ต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาท้าทายอย่างมากมาย ได้แก่ ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม มีการเวนคืนที่ดินจากภาครัฐ เพื่อทำพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงบริเวณป่าโกงกางในชุมชนเขายี่สาร แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในชุมชนที่ยึดอาชีพการเผาถ่านเป็นหลัก พวกเขายึดหลักการว่า “ตัดเท่าใดก็ต้องปลูกให้เท่าจำนวนที่ตัด” ทำให้ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหมดไป และสามารถดูแลป่าโกงกางไว้เป็นสมบัติของชุมชน

         นอกจากนี้ ชุมชนบ้านเขายี่สารยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอก ปัญหาการละทิ้งถิ่นเกิด เข้าไปทำงานในชุมชนเมือง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ด้วยความรัก สามัคคีของคนในชุมชนทำให้เกิดการรวมกลุ่มภูมิปัญญาขึ้น เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตดั้งเดิม ปลูกฝังให้ลูกหลานในชุมชนเกิดความรัก ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของชุมชน ดังจะเห็นได้จาก ชาวยี่สารจะมีงานประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณีเวียนเทียนพ่อปู่ศรีราชา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในวันที่ ๑๗ เมษายน ของทุกปี เป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวยี่สารไม่ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ใดก็จะต้องกลับมาร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง และการอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีตักบาตรบนยอดเขายี่สาร ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอดีต เพื่อสืบทอดไว้เป็นประเพณีท้องถิ่นของชุมชน


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         การมีพฤติกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านยี่สารได้ร่วมกันรักษา ดูแลป่าโกงกาง โดยมีข้อตกลงร่วมกันในชุมชน ว่าจะต้องการปลูกทดแทนในส่วนที่ตัดไป และไม่ตัดเมื่อถึงเวลาอันสมควร สะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรม ในเรื่องวินัย ซึ่งคนในชุมชนมีวินัยร่วมกันในการปฏิบัติตามข้อตกลงของชุมชน ผลที่ตามมาคือ คนในชุมชนสามารถช่วยกันรักษาที่ดินทำมาหากิน คือป่าโกงกางไว้เป็นสมบัติของชุมชน

         ผลที่เกิดขึ้นอีกประการคือ การมีพฤติกรรมที่ดีของชุมชน ในการร่วมมือ ในการจัดกิจกรรมต่างๆของชุมชน และการรวมกลุ่มอาชีพเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชน สะท้อนถึงคุณธรรมของชุมชนในด้านจิตอาสา ซึ่งคนในชุมชนร่วมกันทำเพื่อส่วนรวม โดยมิได้หวังผลตอบแทน

ชุมชนบ้านเขายี่สารขับเคลื่อนและการพัฒนาชุมชนด้วยการใช้พลัง “บวร” จึงสามารถผลักดันให้วัดเขายี่สาร และโรงเรียนวัดเขายี่สาร มีบทบาทและส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชนอย่างชัดเจน ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดการส่งเสริมพัฒนา และการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดให้เกิดคุณค่าทางสังคม และมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกิดรายได้แก่ชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว โดยใช้เสน่ห์ทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญ

เป้าหมายที่จะเดินต่อ

         เป้าหมายของชุมชนบ้านเขายี่สารที่จะพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่จะดูแล สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน เช่น กลุ่มทำผ้ามัดย้อม ที่ปัจจุบันล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุ และการฝึกให้เด็กในชุมชนเป็นมัคคุเทศก์น้อย เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมโบราณสถานวัดเขายี่สาร และพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร โดยจะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ ดูแลชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน


ข้อมูลการติดต่อ

นายปริญญา ดรุณศรี กำนันตำบลยี่สาร

๐๘๑-๙๐๖๑๑๒๐

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายปริญญา ดรุณศรี กำนันตำบลยี่สาร ๐๘๑-๙๐๖๑๑๒๐

แสดงความคิดเห็น

profile