“สะพานไม้แกดำ ตลาดผักปลอดสาร
ถิ่นฐานข้าวอินทรีย์ มีดีเซิ้งกระโจม
ชื่นชมวัฒนธรรม
น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชาวบ้านหัวขัวส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ก่อนจะมีความเข้มแข็งได้อย่างทุกวันนี้ แต่ก่อนเป็นชุมชนที่มีปัญหาด้านยาเสพติด การพนันในงานบุญประเพณี ดื่มสุรา และเกิดการทะเลาะวิวาท จนมีพระครูวิสิฐสังฆการ เจ้าอาวาสวัดบ้านหัวขัว พร้อมด้วย นายอาทิตย์ ภูมิแกดำ ผู้ใหญ่บ้าน ได้ทำข้อตกลง ลงประชาคมในการไม่ให้มีการดื่มสุราในงานบุญประเพณี ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งเรื่อยมา
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
ชุมชนคุณธรรมบ้านหัวขัว เป็นชุมชนที่ขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ด้วยความร่วมมือของพลังบวร โดยการนำหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญา สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชน โดยการขับเคลื่อนกิจกรรมผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนตามลำดับ ๙ ขั้นตอน ดังนี้
๑. จัดทำข้อตกลงของชุมชน ผ่านกระบวนการประชุมปรึกษาหารือแบบมีส่วนร่วม
๒. กำหนดเป้าหมายของชุมชน คือการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาสภาพแวดล้อม ความสะอาด รวมทั้งต้องการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็กเยาวชน
๓. นำปัญหาที่อยากแก้ความดีที่อยากทำ มาจัดทำแผนผ่านเวทีประชาคมปรึกษาหารือ กำหนดแนวทาง กิจกรรม ขั้นตอนการดำเนินการ
๔. กำหนดดำเนินกิจกรรมแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยใช้ภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมา คือการทำเกษตรปลอดสารพิษ ปลูกข้าวอินทรีย์ และการท่องเที่ยวจากวิถีชุมชน โดยที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตทุกขั้นตอน รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ได้รับการสนับสนุนจากทุกส่วน
๕. ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน วัดจากรายได้ครัวเรือน หนี้สิน และความสุขของคนในชุมชน จากการสังเกต และสอบถามจากการประชุมของหมู่บ้าน พร้อมนำข้อบกพร่องเตรียมปรับแผนงาน/กิจกรรมในปีต่อไป
๖. เมื่อสิ้นสุดโครงการ/กิจกรรม นอกจากจะมีการประเมินผลแล้วยังมีการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทำความดี เป็นแบบอย่างของคนในชุมชนด้านต่างๆ
๗. เมื่อสิ้นสุดการดำเนินการในทุกขั้นตอน ชุมชนมีการสรุปและประเมินผลสำเร็จ โดยพิจารณาจากรายได้ของครัวเรือน เปรียบเทียบกับหนี้สินกับปีที่ผ่านมา ปัญหาความประพฤติของคนในชุมชนเป็นในทางที่ดีขึ้น
๘. การขยายผลแผนงาน/กิจกรรม/โครงการฯ พร้อมทำการขยายผลเพิ่มใน ๓ มิติ เพื่อแก้ปัญหา ส่งเสริมพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ในชุมชนเป็นชุมชนแห่งความสุขอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักธรรมทางศาสนามาพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมและนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
๙. ชุมชนพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดภูมิปัญญา รูปแบบการดำเนินการขับเคลื่อนผ่านพลังบวรในชุมชน สู่ชุมชนอื่นที่สนใจ หรือพร้อมแลกเปลี่ยนกับชุมชนข้างเคียง เพื่อขยายผลขยายเครือข่ายให้เกิดสังคมคุณธรรมอย่างยั่งยืน
ความท้าทาย
จากที่เคยมีปัญหาในหลายด้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ชุมชนสามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ได้ นอกจากมีผู้นำที่มีความเข้มแข็งแล้ว ที่สำคัญคือความสามัคคีของคนในชุมชนที่มองเห็นปัญหา และพร้อมที่จะแก้ปัญหาไปด้วยกัน ทำให้ชุมชนเป็นชุมชนที่เข้มแข็งได้ด้วยวิถีพอเพียง การนำพลัง บวร มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน พร้อมนำ มิติทางด้านศาสนา มิติทางวัฒนธรรม และการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติได้อย่างเห็นผล
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ชุมชนบ้านหัวขัว นับถือพระพุทธศาสนา ยึดหลักปฏิบัติตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ของชาวอีสานมีงานประเพณีบุญบั้งไฟ (ฮีตเดือนหก) เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา โดยมีการละเล่นเซิ้งกระโจม เป็นการละเล่นที่สืบทอดกันมาจนเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน จึงมีความสามัคคีในชุมชนเป็นคุณธรรมหลักนำการพัฒนา ซึ่งผลจากความสามัคคีนำชุมชนพัฒนาในหลากหลายด้าน ดังนี้
๑.คนในชุมชนยึดมั่นปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาที่ตนนับถือ
๒.คนในชุมชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต
๓.คนในชุมชนสืบสานและดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม
๔. คนในชุมชนมีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากการพบปะพูดคุย รับฟังข่าวสารจากการประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน และยังมีการจัดตั้งกลุ่มไลน์ผู้นำชุมชนคุณธรรมพลังบวร รวมทั้งเฟซบุ๊กของชุมชนอีกด้วย
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนคุณธรรมบ้านหัวขัว เป็นชุมชนที่ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสังคมเป็นอันดับแรก การแก้ปัญหาใช้พลัง “บวร” การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มีการประชาคมรับฟังความคิดเห็น ค้นปัญหาที่อยากแก้โดยการลงมติ แล้วมากำหนดแนวทาง ขั้นตอนในการแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือจากพลังบวร นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมในชุมชน คนในชุมชนจะร่วมกันทำความสะอาดสถานที่สำคัญในชุมชน ทำให้ภูมิทัศน์ของชุมชนดีและมีบรรยากาศที่ดี
ข้อมูลการติดต่อ
นายอาทิตย์ ภูมิแกดำ ผู้ใหญ่บ้านหัวขัว
แสดงความคิดเห็น