“แคน พิณ โหวต หลากหลาย
ผ้าไหมสวยงาม ถิ่นโบราณมากล้ำ
แหล่งน้ำสมบูรณ์”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนดั้งเดิมนั้นชาวบ้านไม่ค่อยสนใจงานด้านศาสนา ประชากรในชุมชนที่อยู่ในวัยแรงงานออกไปทำงานต่างถิ่น มีปัญหาด้านยาเสพติดบ้างเล็กน้อย แต่ชุมชนบ้านท่าเรือนั้นมีความสามัคคีเป็นพื้นฐาน มีการประกอบอาชีพทำเครื่องดนตรีอีสานซึ่งเป็นอาชีพเสริมนอกจากการทำนา ทำให้มีการถ่ายทอดวิธีการทำจากรุ่นสู่รุ่น คนในชุมชนจึงมีอาชีพที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ชุมชนมีผู้นำทางศาสนาที่เข้มแข็ง สามารถนำประชาชนในชุมชนให้นำหลักธรรมทางศาสนามายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยมีการจัดกิจกรรมทางศาสนาที่หลากลาย เช่น การปฏิบัติธรรมประจำปี การบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี อนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีวันสำคัญทางศาสนา และวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชุมชน ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชนมากยิ่งขึ้น
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
๑.ชุมชนได้ใช้มิติทางศาสนา คือ การมีผู้นำทางศาสนามีความเข้มแข็ง เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน จัดกิจกรรมทางศาสนา สามารถส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีคุณธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น กิจกรรมปฏิบัติธรรมประจำปี กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน กิจกรรมทำบุญประจำปี วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นประจำและต่อเนื่องทุกปี การแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันธรรมสวนะ กิจกรรมการแสดงตนเป็นพุทธมามกะและหมู่บ้านศีลห้า ผู้นำเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นต้นแบบให้ชาวบ้าน กิจกรรมการรณรงค์ ลด ละ เลิก อบายมุข ในงานศพ โดยประชาชนในหมู่บ้านทำข้อตกลงร่วมกัน มีการทำป้ายรณรงค์ ผู้นำใช้ทุกโอกาสในการอธิบายถึงข้อดีและทำความเข้าใจกับประชาชน ทำให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพได้มาก เกิดกระแสการบอกต่อว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมีการปฏิบัติอย่างกว้างขวาง
๒.ชุมชนใช้หลักการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ ส่งผลให้เกิดความสามัคคีขึ้นในชุมชน มีการแบ่งงานกันทำ และเกิดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ใช้หลักการประสานงาน “บวร” โดยการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งบ้าน วัด ราชการ ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน
๓.การได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงาน กรป.กลาง และมหาวิทยาลัยต่างๆ ฯลฯ ทำให้เกิดการอบรมให้ความรู้ การเรียนรู้ในการพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ จนเกิดความเข้มแข็งในชุมชน ประชาชนในชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ ประชาชนวัยแรงงานก็ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น หรือต่างจังหวัด
๔.ด้วยความเปลี่ยนแปลงไปของสภาพสังคม ทำให้ชุมชนมีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเหลือ และสนับสนุน เกิดการจำหน่ายสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทำให้การตลาดกว้างมากขึ้น จำหน่ายสินค้าได้มากยิ่งขึ้น
ความท้าทาย
ปัญหาทีเกิดขึ้นบ่อย คือ ความไม่เข้าใจของประชาชนในชุมชนบางส่วน ทำให้เกิดการไม่เห็นด้วย และไม่ให้ความร่วมมือ วิธีแก้ปัญหาหรือการก้าวข้ามปัญหาอุปสรรค คือ ผู้นำทางศาสนา และผู้นำชุมชน ต้องประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้มากขึ้น ผู้นำทางศาสนาแสดงธรรมะ ผู้นำชุมชนต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และอาศัยเวลา ให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม จับต้องได้
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
๑.พฤติกรรมของคนในชุมชนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น อบายมุขลดลง ปัญหาอาชญากรรมไม่มี ห่างไกลยาเสพติด
๒.การปกครองดูแลในชุมชนง่ายขึ้น คนในชุมชนนั้นให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นด้วยความเต็มใจ อีกทั้งคนในชุมชนยังมีคุณธรรมด้านความซื่อสัตย์ มีสัมมาคารวะ กตัญญูกตเวที ส่งผลให้เกิดความสามัคคีปรองดองในชุมชนคุณธรรมบ้านท่าเรือ
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
๑.มิติด้านศาสนา เน้นการรักษาศีล ๕ สมทานศีล ๕ ให้เกิดความเป็นรูปธรรม ญาติผู้ใหญ่ในชุมชน เป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุตรหลาน เยาวชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
๒.คนในชุมชนร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านสีขาว ปลอดอบายมุข สุรา เครื่องมึนเมา และปลอดยาเสพติด
๓.มีความต้องการที่จะพัฒนาแหล่งอาหารในชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาอาชีพ และบุคลากรในชุมชน
๔.ผู้นำจะต้องดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ กิจกรรม ด้านคุณธรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อให้ผลสำเร็จยังคงอยู่และดำเนินต่อ
ข้อมูลการติดต่อ
ผู้ประสานงาน นายสมประสงค์ พิมศรี
๐๘๓-๓๕๕๕๐๑๑
แสดงความคิดเห็น