“ทางสายเป็นสุข อยู่อย่างพอเพียง
คู่เคียงสิ่งแวดล้อม”
บ้านทางสายเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และประมงชายฝั่ง มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย พึ่งพาตนเอง โดยมีการแบ่งการปกครองออกเป็นคุ้มบ้าน จำนวน ๔ คุ้ม เพื่อเป็นการกระจายอำนาจปกครองของผู้นำชุมชน พร้อมทั้งมีการคัดเลือกคนในหมู่บ้านเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการชุมชนแบบมีส่วนร่วมกับคณะผู้นำชุมชนในรูปแบบของคณะกรรมการซึ่งมีที่มาจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ กลุ่มละ ๒ คน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มประมง กลุ่มเกษตร ตัวแทนคุ้มบ้าน ๔ คุ้มบ้าน ตามที่คนในชุมชนเห็นพ้องต้องกัน เป็นต้น รวมทั้งสิ้น ๓๕ คน มาจัดตั้งเป็น “คณะกรรมการสภาผู้นำชุมชนบ้านทางสาย” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริการจัดการชุมชนแบบมีส่วนร่วม พร้อมทั้งมีการวาง “ธงหลัก ๑๐ ปี” (๒๕๕๗-๒๕๖๖) เพื่อใช้เป็นแนวทาง และทิศทางในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนให้ไปสู่เป้าหมายที่มีการกำหนดร่วมกันไว้ คือ “ทางสายเป็นสุข อยู่อย่างพอเพียง คู่เคียงสิ่งแวดล้อม” พร้อมได้สร้างแหล่งทุนที่สำคัญของชุมชน คือ ธนาคารชุมชน ที่เน้นการออม และการจัดสวัสดิการ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
จากการดำเนินงานในรูปแบบของการบริหารจัดการชุมขนแบบมีส่วนร่วม จนสามารถนำสู่ความสำเร็จในการพัฒนาชุมชน คนในชุมชนมีความสุขตามแบบของคนบ้านทางสาย รวมไปถึงได้รับการยอมรับจากภายนอก ซึ่งเกิดจากกระบวนการดำเนินงาน ขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม ดังนี้
สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชุมชนของตนเองร่วมกับคณะผู้นำชุมชน ดำเนินการเปิดเวทีการประชุมคณะกรรมการสภาผู้นำชุมชนทุกวันที่ ๒ ของเดือน เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอข้อมูลความเคลื่อนไหวภายในกลุ่มหรือคุ้มบ้านของตน ร่วมหารือ แสดงความคิดเห็น แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ
สร้างแหล่งทุนในชุมชน มีการจัดตั้ง “ธนาคารชุมชนบ้านทางสาย” ในปี ๒๕๕๔ เพื่อส่งเสริม และสร้างวินัยการออมที่ดี เป็นแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อการประกอบอาชีพของคนในชุมชน ลดการพึ่งทุนจากภายนอก ลดปัญหาหนี้นอกระบบ
การสร้างกิจกรรม เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินงาน จึงมติให้ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เป็นการสร้างการเรียนรู้ ความรับผิดชอบต่อชุมชน
สร้างการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพของตน เพื่อให้คนในชุมชนได้มีการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของตนเอง กลุ่ม และหมู่บ้าน ได้นำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน จึงมีการส่งเสริมให้คนในชุมชนได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง
สร้างเครือข่าย จากการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการชุมชนแบบมีส่วนร่วมมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานให้กับผู้ที่สนใจ ส่งผลให้มีโอกาสได้พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชน
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ผลลัพธ์ มีการปลูกผักสวนครัวภายในครัวเรือน เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย ส่งเสริมให้คนในชุมชนใช้เหตุผลในการพูดคุย ยอมรับเหตุผลของกันและกัน เพื่อลดความขัดแย้ง มีการดำเนินกิจกรรมธนาคารชุมชนยังสร้างวินัยทางการเงินให้แก่คนในชุมชน ทำให้สามารถบริหารจัดการเงินได้
นอกจากนั้นแล้ว คนในชุมชนยังมีจิตอาสา ให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน หน่วยงานต่างๆ ตามติของที่ประชุมสภาผู้นำชุมชน
ผลกระทบ เกิดแหล่งทุนของชุมชนที่บริหารจัดการโดยคนในชุมชน เช่น ธนาคารชุมชน บ้านพักโฮมสเตย์ เป็นต้น พร้อมทั้งดำเนินการต่อยอดการดำเนินงานโดยเป็นชุมชนสวัสดิการ มีการรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของชุมชน รวมทั้งส่งผลให้กลายเป็นชุมชนต้นแบบสำหรับชุมชนอื่นๆ
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
สร้างภาคีเครือข่ายภายนอก เพื่อเปิดโอกาสให้กับชุมชน และประชาชนได้รับความรู้ใหม่ๆ มีแนวคิดในการดำเนินงานในรูปแบบเดียวกันมากขึ้น
สร้างความมั่นคงทางอาหาร เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ เกิดการว่างงาน ดังนั้นการสนับสนุน และส่งเสริมให้คนในชุมชนแบ่งพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ จึงเป็นแนวทางในการลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้มากขึ้น และอาจจะต่อยอดให้เป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย
ผู้ประสานงานในพื้นที่
นายฉัตรธวัช คงสมัคร ผู้ใหญ่บ้านทางสาย
โทร. ๐๘๒-๒๙๘-๑๙๔๑
นางสาวนันทกานต์ เทียนเพ็ชร
เลขานุการสภาผู้นำชุมชนบ้านทางสาย
โทร. ๐๙๒-๙๕๒-๔๒๕๔
แสดงความคิดเห็น