“ชุมชนบ้านดอนตะโหนด
หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
ชุมชนบ้านดอนตะโหนด มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ประมาณ ๒๗๐ คน ๗๐ ครัวเรือน โดยมีอาชีพหลักที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คือ ทำนา ปลูกผัก ปลูกผลไม้ มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ ๑,๑๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มอยู่ในพื้นที่เขตชลประทาน ทำให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรตลอดทั้งปี
ชุมชนบ้านดอนตะโหนด ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนถึงขั้นตกเกณฑ์มาตรฐาน จปฐ. เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านจึงมีแนวคิดในการจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้าน จากคนที่เคยต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ มาจัดตั้งกลุ่ม “ออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนตะโหนด” และให้ชาวบ้านยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกันว่า สมาชิกต้องฝากเงินสัจจะและรายเดือนกับกลุ่มออมทรัพย์
การขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมบ้านดอนตะโหนด สมาชิกทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง การพัฒนา กำหนดเป้าหมายของอนาคตร่วมกัน ผ่านการประชุมปรึกษาหารือโดยใช้เวทีประชาคมของหมู่บ้าน เพื่อชี้แจงข้อมูลข่าวสาร ข้อราชการ พร้อมรับฟังปัญหาในหมู่บ้าน และในการประชุมทุกครั้ง จะเชิญหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้เห็นทิศทางในการพัฒนาที่มีความชัดเจน นำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาชุมชน ที่สามารถตอบโจทก์ชุมชนและสังคมได้ ซึ่งแผนพัฒนาที่เกิดจากการแปลงวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติของชุมชนบ้านดอนตะโหนด มีแนวคิดในการพัฒนาที่สอดคล้องเชื่อมโยงกันอยู่ ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ การพัฒนาคน เพราะเชื่อว่า คนเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ด้าน ส่วนที่ ๒ การพัฒนาอาชีพ เป็นการสร้างให้ชาวบ้านมีวินัยในตนเอง มีการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ
เส้นทางสู่ความสำเร็จการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนบ้านดอนตะโหนด เป็นหมู่บ้านที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จนทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ ชาวบ้านที่นี่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อให้เกิดรายได้จากหลายช่องทาง เน้นการเพาะปลูกแบบอินทรีย์
การพัฒนาชุมชนคุณธรรมได้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่และอาชีพของคนในชุมชนโดยยึดชุมชนเป็นหลัก มีการแบ่งบทบาทหน้าที่โดยให้ชุมชนดูแลกันเอง แบ่งการดูแลอออกเป็น ๙ คุ้ม แต่ละคุ้มจะขึ้นกับพื้นที่และอาชีพของสมาชิก ซึ่งมีหัวหน้าคุ้มคอยดูแลสมาขิก พร้อมทั้งจัดการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนเบื้องต้นให้กับสมาชิก ได้แก่ คุ้มที่ ๑ คุ้มขนมไทย ดอกไม้ประดิษฐ์ คุ้มที่ ๒ คุ้มลีลาวดี เกษตรผสมผสาน คุ้มที่ ๓ คุ้มพอกิน พอใช้ ข้าวปลอดสารพิษ คุ้มที่ ๔ คุ้มพอเพียง เพาะเห็ดฟางในโรงเรียน คุ้มที่ ๕ คุ้มไม้กวาด แกะปลัดขิกจากไม้มงคล คุ้มที่ ๖ คุ้มพืช ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ คุ้มที่ ๗ คุ้มบ้านสวนชวนฝัน ไม้กวาดทางมะพร้าว คุ้มที่ ๘ คุ้มร่มไทรไม้ประดับ ต้นไม้ชุดล้อม ดินปลูก และ คุ้มที่ ๙ คุ้มแม่ตะเคียนบางระจัน กล้วยตาก มะม่วงกวน
นอกจากจะแบ่งหน้าที่กันดูแลกันเองแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของชุมชน โดยการนำอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละคุ้มมากำหนดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวภายในชุมชน รวมทั้งกำหนดจัดกิจกรรมโดยการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะได้เผยแพร่องค์ความรู้ของชุมชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน และจากความสำเร็จของการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้ชุมชนบ้านดอนตะโหนดได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ของจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อปี 2๒๕๕๓ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนบ้านดอนตะโหนด เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในจังหวัดสิงห์บุรี อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ความท้าทาย
วิถีชีวิตของชาวชุมชนบ้านดอนตะโหนด ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งปัญหาหลักคือ ต้นทุนการผลิตสูง ผลิตแล้วไม่มีที่จำหน่าย ทำให้ไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางด้านราคาได้ ผู้นำชุมชนจึงได้ ระดมความคิดเห็น และความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งคนในชุมชน และผู้สนับสนุนจากภายนอก ดำเนินการจัดระบบการจัดการผลิตแบบครบวงจร โดยเริ่มจากการปลูกพืชผสมผสานและพืชอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนและปัจจัยการผลิตของชาวบ้าน การช่วยลดภาระในการซื้อปุ๋ย โดยให้ชาวบ้านมาลงชื่อซื้อปุ๋ยได้ที่ร้านค้าชุมชน พร้อมขนส่งปุ๋ยไปให้ชาวบ้านตามจำนวนที่สั่ง และชาวบ้านสามารถจ่ายเงินค่าปุ๋ยให้กับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตภายหลังจากขายผลผลิตได้แล้ว ต่อมาชาวบ้านได้เริ่มปรับวิถีการผลิต โดยหันมาปลูกข้าวอินทรีย์มากขึ้น รวมทั้งปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต พร้อมทั้งได้นำข้าวอินทรีย์ปลอดสารไปขายให้กับโรงสีชุมชน ซึ่งกำไรที่ได้ก็จะส่งเป็นเงินปันผลคืนให้กับสมาชิก สำหรับการจำหน่ายผักอินทรีย์ของชุมชน มีการบริหารจัดการร่วมกันเป็นกลุ่ม ตั้งแต่การปลูก การดูแล และ การตัดจำหน่ายให้กับพ่อค้าในกรุงเทพฯ และร้านค้าในตัวเมืองจังหวัดสิงห์บุรี กลุ่มจะจดบันทึกชนิดของผัก ปริมาณ น้ำหนัก และรายชื่อเกษตรกรไว้อย่างละเอียด เมื่อมีการขายส่งแล้วจะหักรายได้ค่าดำเนินการไว้เล็กน้อย ส่วนที่เหลือส่งคืนให้เกษตรกร โดยไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งจำหน่ายเอง และพืชผักยังได้ราคาที่สูงขึ้นด้วย
ชุมชนบ้านดอนตะโหนด ได้จัดตั้งสถาบันจัดการเงินทุนชุมชนบ้านดอนตะโหนดขึ้น จากความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของคนในหมู่บ้าน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต่อมามีการตั้งร้านชุมชน เป็นกิจการของสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน และได้ดำเนินงานคู่กันมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน มีเงินทุนหมุนเวียน จำนวน ๙ ล้านกว่าบาท มีสมาชิก จำนวน ๒๓๐ คน การดำเนินงานของสถาบันฯ มีกลไกช่วยลดหนี้ให้กับชาวบ้าน ด้วยการนำหนี้ก้อนต่างๆ มารวมกันเป็นก้อนเดียว เรียกว่ารูปแบบ “หนึ่งครัวเรือนหนึ่งสัญญา” พร้อมทั้งช่วยจัดระบบการเงินของชาวบ้านให้มีระเบียบ และไม่ใช้เงินไปกับปัจจัยการผลิตหรือเรื่องอื่นๆ มากเกินจำเป็น
การดำเนินงานของสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านดอนตะโหนด และร้านค้าชุมชน ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากสมาชิกทุกคน ทำให้สมาชิกมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่แบบพอเพียง เริ่มพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันและกัน ชาวบ้านดอนตะโหนดได้จัดหาเครือข่ายเพื่อนำเสนอและสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าของตนเอง โดยการนำกลุ่มข้าวปลอดสารพิษไปจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกับกรมส่งเสริมการเกษตร และนำผลิตภัณฑ์ไปจดทะเบียนหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กับกรมการพัฒนาชุมชน และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ห้าดาว รวมทั้งนำผลิตภัณฑ์ไปจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีขั้นตอนต้องปรับรูปแบบการผลิตและมีห้องบรรจุผลิตภัณฑ์ที่สะอาดมิดชิดถูกสุขอนามัยมาตรฐานก่อนนำไปจำหน่ายให้กับผู้ที่เดินทางมาศึกษาดูงาน
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น บ้านดอนตะโหนดมีแนวคิด “พัฒนาคนพร้อมกับการพัฒนาอาชีพ” ด้วยการใช้รูปแบบของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรปลอดสารมาเป็นเครื่องมือเชิญชวนให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมเรียนรู้กับแกนนำของหมู่บ้าน ในปัจจุบันบ้านดอนตะโหนดให้ความสำคัญกับชาวบ้านหนุ่มสาวและวัยกลางคนมากขึ้น โดยเชิญชวนให้เข้ามาเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต วิธีการเปลี่ยนแนวคิดของคนและสร้างคนทำงานรุ่นต่อไป คือ การพาไปศึกษาดูงานในที่ต่างๆ โดยมีจุดประสงค์ของการดูงานที่ชัดเจนว่าเราสนใจเรื่องอะไร ต้องไปดูที่ไหน กลับมาแล้วจะนำความรู้มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อหมู่บ้านอย่างไร การไปศึกษาดูงานเป็นการพัฒนาให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมเป็นแกนนำหมู่บ้าน และจุดเด่นของคนรุ่นใหม่ คือ ทันโลก ทันสื่อ สามารถใช้สื่อได้ดี และมีแนวคิดที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า ซึ่งในปัจจุบันบ้านดอนตะโหนด มีผู้นำชุมชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้าน รวมทั้งมีบทบาทในการทำงานด้านข้อมูลและเอกสารให้กับกลุ่มต่างๆ แสดงให้เห็นว่า งานบางอย่างนั้นคนรุ่นใหม่ทำได้ดีกว่า เมื่อนำจุดเด่นของคนรุ่นใหม่มาผสมผสานกับประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หมู่บ้านประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จของบ้านดอนตะโหนด ได้แก่
๑)ผู้นำ มีความเสียสละ ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานพัฒนาเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง เป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าเปลี่ยนแปลง
๒)ชาวบ้าน กำลังหลักของชุมชน ชาวบ้านในชุมชนเป็นผู้ที่มีความพร้อมและมีใจรับการพัฒนา
๓)เงินทุนที่มีการหมุนเวียนตลอดเวลา ทำให้ชาวบ้านมีต้นทุนการผลิตอย่างไม่ขัดสน
๔)ชัยภูมิหมู่บ้าน มีน้ำสำหรับทำการเกษตรอย่างเพียงพอ และไม่มีปัญหาน้ำท่วม
๕)เครือข่าย คือ การได้รับโอกาสและการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก จึงสามารถพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานของชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง
จากความเข้มแข็งของชุมชน และการยึดหลักการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่พึ่งพาตนเองได้ ทำให้ชุมชนได้รับรางวัล “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข” เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ จากกรมการพัฒนาชุมชน และมีผู้คนจาก ทั่วประเทศเข้ามาศึกษาดูงาน ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านดอนตะโหนด โดยมีชาวบ้านที่มีความพร้อมและสมัครใจเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งเป็นการแบ่งปันเพื่อสังคม และยกระดับการศึกษาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ผลกระทบที่เกิดขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยว และผู้ที่จะเดินทางมาศึกษาดูงานในชุมชนมีจำนวนลดลง ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนลดลงไปด้วย แต่ชุมชนมีแหล่งจำหน่ายและส่งออกสินค้าเป็นประจำอยู่ก่อนแล้วจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ชุมชนได้ประสบความสำเร็จจากการเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนพึ่งตนเอง อันมีรากฐานจากการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นความยั่งยืนในอนาคต จึงจำเป็นต้องรักษามาตรฐานให้คงที่ เป็นที่ยอมรับของสังคม และดำรงรักษาบริบทของชุมชนไว้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่
๑)รักษาระบบในการนำเงินของหมู่บ้านและเงินออมทรัพย์เพื่อการเกษตรของชาวบ้าน มาบริหารจัดการรวมกันเป็นก้อนเดียว ทำให้บ้านดอนตะโหนดใช้เงินในกิจกรรมได้อย่างคล่องตัว
๒)ให้ความช่วยเหลือสมาชิกอย่างทั่วถึง และให้ความรู้ในการบริหารจัดการการเงิน ในครัวเรือนและหนี้สินได้อย่างถูกต้อง
๓)ใช้เวทีการลงมติและแก้ปัญหาด้วยการประชุม หรือประชาคมทุกครั้ง
๔)หมั่นพัฒนาการสร้างคนทำงานใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดการทำงาน
๕)แสวงหาความรู้ด้วยการไปศึกษาดูงานและเข้ารับการอบรมกับหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง
๖)มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้มาตรฐาน และรักษามาตรฐานให้คงที่ตลอดไป
๗)ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีการเพิ่มผลผลิตของชาวบ้านแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความสมัครใจ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการระเบิดจากข้างในของคนในชุมชนอย่างแท้จริง
๘)รักษาความร่วมมือระบบกลุ่มให้มั่นคง
๙) ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาส ในการเติบโตอย่างมั่นคง
ข้อมูลการติดต่อ
นายเอกศักดิ์ ทองคำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๗ ตำบลโพทะเล ประธานชุมชนคุณธรรม
บ้านดอนตะโหนด โทรศัพท์ ๐๘๙-๘๖๐-๕๐๔๙
แสดงความคิดเห็น