community image

ชุมชนคุณธรรมท่าเมือง

อ.ดอนมดแดง ต.ท่าเมือง จ.อุบลราชธานี
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 0 คน
cover

“วิถีท่าเมือง วิถีติดเซ”


ชุมชนตำบลท่าเมืองส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมลำน้ำลำเชบก เป็นชุมชนที่มี ๑๐ หมู่บ้าน ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือการทำนาและเลี้ยงสัตว์ อาชีพเสริมคือการเป็นช่างไม้ ช่างปูน แกะสลักปูนปั้นลายไทย (พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญและหอระฆัง) ที่ได้องค์ความรู้และภูมิปัญญาที่มาจากบรรพบุรุษชาวเวียดนามที่เคยอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าเมืองนี้ในสมัยอดีต

ชุมชนตำบลท่าเมืองมีอัตลักษณ์และวิถีชีวิตที่สงบ เรียบง่าย อยู่ร่วมกันฉันท์เครือญาติ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้และขับเคลื่อนด้วยพลังบวร มีวัดแก่งตอย ซึ่งประดิษฐานพระเจ้าใหญ่องค์แสน เป็นสถานที่สำคัญเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านดำเนินชีวิตด้วยวิถีประเพณีวัฒนธรรมของชาวอีสาน บุญฮีตสิบสอง คอง สิบสี่ ทำให้ทุกวันนี้ชาวชุมชนท่าเมืองอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความสามัคคี พอเพียง มีวินัย ความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม มีกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนที่มีเงินฝากจำนวนกว่า ๖๐ ล้านบาท ถือเป็นชุมชนที่มีการพึ่งพาตนเองโดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ จนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมอาชีพ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การยึดมั่นปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา การเคารพในระบอบประชาธิปไตย มีจิตอาสา เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ให้ความช่วยเหลือทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์โดยไม่หวังผลตอบแทน มีความเพียรพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของส่วนรวมร่วมกัน ผ่านการใช้เวทีประชาคม ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันแก้ปัญหา ภายใต้ยุทธศาสตร์ พลังบวร และมีการสืบสานดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม มีการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น พัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สู่ชุมชนชีววิถีที่เข้มแข็ง ด้วยแนวคิดพึ่งพาตนเอง ยึดมั่นในความพอประมาณและมีภูมิคุ้มกัน โดยทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้แนวคิด “การมองอนาคต มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องมองให้ครบ ๓ มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จึงจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน”


ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

ชุมชนยึดมั่นในหลักคุณธรรมและดำเนินชีวิตบนฐานความพอเพียง พอดี รู้จักพึ่งพาตนเอง เอื้ออาทรแบ่งปันซึ่งกันและกัน กตัญญูรู้รักบ้านเกิด รู้คุณแผ่นดิน เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย มีภูมิคุ้มกันที่ดี พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปัญหาในชุมชนลดน้อยลงและหมดไป เช่น เรื่องยาเสพติด การพนัน อบายมุข การทะเลาะวิวาท หนี้สิน ฯลฯ มีการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มจิตอาสา เป็นต้น


ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ๓ ด้าน คือ

๑.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ : ดำเนินงานตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน เกิดวิสาหกิจชุมชนบ้านไร่จันทกานต์ และมีสวนพอใจรัก เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น เช่น นาข้าวปลอดสารพิษ เลี้ยงปลาน้ำหมักจากไส้เดือน การขยายเมล็ดพันธ์ข้าว ไอศกรีมข้าวกล้องงอก ไข่เค็มสมุนไพร ฯลฯ

๒.การอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น : มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานจากต้นกล้า จนเป็นสินค้าOTOP ชื่อ “กลุ่มจักสานกระติบข้าวจากต้นกล้า ณ บ้านสว่าง” ๓.การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มีกลุ่มจิตอาสาที่ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ในรูปแบบ “โคก หนอง นาโมเดล” สืบสานแนวพระราชดำริ ยึดหลักกสิกรรมธรรมชาติ พัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบที่นำมาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่การเกษตร ผสมผสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน และเป็นศูนย์เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจากสถานที่จริง และยังมีการจัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อสร้างวินัยในการออมอีกด้วย


ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม

๑.หาจุดร่วม และนำมากำหนดเป็นอัตลักษณ์ชุมชน ที่ตรงกับความสนใจและความต้องการของชุมชน ภายใต้ความมุ่งมั่น “จะเดินหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

๒.การถอดบทเรียน ผลการดำเนินงานที่มาทั้งอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน ปัญหาของชุมชน ต้นทุน(ความดี)ทางสังคม นวัตกรรมและการต่อยอดขยายผล

๓.สร้างกลุ่มแกนนำเพื่อการเปลี่ยนแปลงและริเริ่มก่อการดี โดยต้องมีทั้งผู้นำตามธรรมชาติและผู้นำทางการขยายผลภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่มี ถ่ายทอดและพัฒนาไปยังคนรุ่นใหม่ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชนด้วยนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น

๔.สร้างและแสวงหาเครือข่ายคุณธรรม บุคลากรทีมงาน นักคิด นักพัฒนา ทั้งจากคนในชุมชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน NGO ฯลฯ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือ ร่วมมือและสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดมูลค่าเพิ่ม


ผู้ประสานงานใพื้นที่ : นายประเสริฐ ศิริมูล มือถือ ๐๘๑ ๘๗๘ ๑๔๙๕ ชุมชนคุณธรรม

ท่าเมือง ตำบลท่าเมือง จังหวัดอุบลราชธานี


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายประเสริฐ ศิริมูล ๐๘๑ ๘๗๘ ๑๔๙๕

แสดงความคิดเห็น

profile