community image

กองบุญคุณธรรมเพื่อการจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง

อ.จอมพระ ต.เมืองลีง จ.สุรินทร์
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 11 มีนาคม 2568
จำนวนผู้เข้าชม: 1 คน
cover

คนเมืองลีงทั้งตำบล

“โนวเจีย เมียนเซาะ”

คือ อยู่ดี มีสุข

“กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด”



กองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ จัดตั้งในปี ๒๕๕๑ มีสมาชิกแรกเริ่มประมาณ ๒๐๐ คน กำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนปีละ ๒ ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคม ครั้งละ ๑๘๕ บาท ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน ๒,๐๓๐ คน มีเงินกองทุน ๒,๑๕๘,๐๐๐ บาท การจัดสวัสดิการแบ่งเป็น ๑๓ ประเภท อาทิ การคลอดบุตร เสียชีวิต ภัยพิบัติ บวช เกณฑ์ทหาร แต่งงาน ฯลฯ โดยมีเงื่อนไข คือต้องเป็นสมาชิก ๑๐ ปีขึ้นไป จึงจะได้รับเงินสวัสดิการตามที่กำหนดในแต่ละประเภท

กองบุญคุณธรรมฯ สู่การจัดสวัสดิการอนุรักษ์ควายไทย

  กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นการรวมกลุ่มชาวบ้านในแต่ละชุมชน เพื่อช่วยเหลือกันในยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเรียกว่า “กองทุนสวัสดิการวันละ ๑ บาท” โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ ๑ บาท ปีละ ๓๖๕ บาทหรือตามความสะดวก แล้วนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิกตามระเบียบที่สมาชิกร่วมกันกำหนด แต่หากสมาชิกลาออกก็จะไม่ได้รับเงินสมทบคืนเพราะถือว่าเป็น “กองบุญ”

         นอกจากนี้กองบุญฯ ยังมีสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกที่เลี้ยงควาย หากควายออกลูกจะให้เงินช่วยเหลือตัวละ ๒๐๐ บาท เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงและอนุรักษ์ควายเอาไว้ เพราะควายมีแนวโน้มที่จะลดลง จึงส่งเสริมการเลี้ยงควายเพื่อนำมูลควายไปทำปุ๋ย ลดต้นทุนการทำไร่นา ลดปัญหาสุขภาพจากสารเคมี โดยเริ่มให้สวัสดิการควายที่ออกลูกตั้งแต่ปี ๒๕๕๙

ดั้งเดิมจังหวัดสุรินทร์ไม่เพียงแต่จะเป็นเมืองหลวงของช้างเท่านั้น แต่ชาวบ้านที่นี่ยังนิยมเลี้ยงควายเป็นสัตว์คู่ครัวเรือนด้วย แต่จากข้อมูลของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ ระบุว่าในปี ๒๕๖๒ เกษตรกรเลี้ยงควายรวมกันจำนวน ๑๑๒,๗๙๐ ตัว หรือเฉลี่ยครอบครัวละ ๑ ตัวเท่านั้น และจำนวนควายที่เลี้ยงนับวันจะลดลงเรื่อยๆ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่หันไปใช้ควายเหล็กแทน โดยควายของสมาชิกกองบุญฯ ที่เลี้ยงนั้นมี๘๘๒ ตัว จาก ๒๒๑ ครอบครัว มูลควายสามารถเอาไปใช้ในไร่นา ทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งให้ผลดี อีกทั้งช่วยลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยและไม่มีสารเคมีตกค้างอีกด้วย


โนวเจีย เมียนเซาะ :

สร้างความมั่นคงทางอาหาร

“โนวเจีย เมียนเซาะ” เป็นภาษาเขมรสุรินทร์ มีความหมายว่า“อยู่ดี มีสุข” เป็นเป้าหมายของกองบุญฯ ที่จะให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข มีความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นกองบุญฯจึงส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ สร้างป่าชุมชน มีเห็ด หน่อไม้ ไข่มดแดง อนุรักษ์แหล่งเพาะพันธุ์ปลาฯลฯ เพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน

  นอกจากนี้ ตำบลเมืองลีงเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่ทำนา ๒๕,๒๐๖ ไร่ ได้ผลผลิตปีละ ๑๐,๕๘๖ ตัน ผลิตกินเอง ๑,๑๒๗ ตันต่อปี ที่เหลือส่งขายประมาณ ๙,๔๕๘ ตัน โดยใช้ปุ๋ยจากมูลควายทั้งหมด ทำให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย และขายได้ราคาดีกว่าการใช้สารเคมีด้วย

สมาชิกกองบุญฯท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวเลี้ยงควายมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า เพื่อเอาไว้ไถนา ตอนนี้มีควายอยู่ ๖ ตัว แต่ไม่ได้ใช้ควายไถนาแล้ว แต่เอามูลควายไปทำปุ๋ยผสมกับเปลือกลูกตาลแล้วหมักเอาไว้ ปีหนึ่งจะได้ประมาณ ๕๐-๑๐๐ กระสอบ ขายได้กระสอบละ ๓๐-๕๐ บาท เมื่อควายออกลูกก็ได้เงินสวัสดิการฯ ตัวละ ๒๐๐ บาท หากเป็นลูกควายหย่านมแล้ว ขายได้ราคาตัวละ ๒๐,๐๐๐ บาท และควายตัวเมียราคา ๓๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป

 

ยุทธศาสตร์ “สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ”

นอกจากนี้กองบุญฯ ยังร่วมกับสมาชิกและชุมชนสร้างป่าครอบครัวขึ้นมา โดยใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ซื้อมาเนื้อที่ประมาณ ๓๘ ไร่มาฟื้นฟู ปลูกไม้ยืนต้นต่างๆ ให้ธรรมชาติคอยดูแล ไม่นานป่าก็เริ่มกลับมาสมบูรณ์ เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ มีเห็ดป่าต่างๆ ที่กินได้กว่า ๔๐ ชนิด มีหน่อไม้ ผักหวาน ไข่มดแดง น้ำผึ้งป่าฯลฯ ชาวบ้านทั่วไปเข้ามาเก็บกินและขายสร้างรายได้และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญให้ชาวบ้านนับร้อยครอบครัวในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน เรียกว่า “โรงทานธรรมถาวร” รวมทั้งยังร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่อยู่ในลำน้ำชีที่ไหลผ่านตำบลด้วย โดยการทำซั้งหรือบ้านปลาจากยางรถยนต์หลายร้อยเส้น เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ปลาหายากต่างๆ นับร้อยชนิด เช่น ปลากระทิง ปลากา ปลาเทโพ ปลาแก้มช้ำ ฯลฯ อีกทั้งยังส่งเสริมให้ชุมชนใช้พื้นที่ว่างตามหัวไร่ปลายนาเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เป็นเกษตรผสมผสาน สร้างแหล่งอาหาร ลดการใช้สารเคมี มีสมาชิกเข้าร่วม ๗๕ ครอบครัว มีพื้นที่ทำเกษตรผสมผสาน ๑,๕๐๐ ไร่  

การขยายผลหนุนโรงเรียน-ชุมชนสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย

นอกจากการสนับสนุนชุมชนเลี้ยงควายและทำเกษตรอินทรีย์แล้ว กองบุญฯยังขยายแนวคิดไปยังโรงเรียนในตำบลหลายแห่ง เช่น โรงเรียนกรูดหนองซำ โดยกองบุญฯ ได้ประสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดหางบประมาณจำนวน ๒๘,๐๐๐ บาท เพื่อมาจัดทำกระบวนการอบรมเพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนและนักเรียนทำแปลงเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ ๖ ไร่ เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๖๑

กิจกรรมโครงการเกษตรอินทรีย์ เกิดจากการระดมทุนจากชาวบ้านและหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อทำแหล่งเก็บน้ำในการทำเกษตร และมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ สนับสนุนด้านอุปกรณ์และโรงเรือนเกษตร มีการอบรมให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนในการทำการเกษตรปลอดภัยโดยไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยหมักจากสัตว์ เช่น มูลวัว ควาย หมู ไก่ ใช้น้ำหมักชีวภาพป้องกันแมลงศัตรูพืช ปลูกผักสวนครัวต่างๆ เช่น ผักบุ้ง คะน้า มะนาว พริกขี้หนู กะเพรา โหระพา มะเขือเทศ ฯลฯ เพาะเห็ดต่างๆ เลี้ยงปลาดุก กบ และหมูป่า 

ผลผลิตที่ได้ส่งขายในหมู่บ้านและขายให้โรงเรียนเพื่อทำอาหารกลางวัน นำรายได้เป็นกองทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียน แม้รายได้จากการขายผักจะไม่มาก แต่ก็ถือเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักการทำเกษตรปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี ทำให้เด็กมีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถม ๖ โดยเด็กเล็กจะช่วยรดน้ำ เด็กโตช่วยดูแลแปลงผัก-เลี้ยงหมูป่า  

ท้ายนี้รูปธรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของคนเมืองลีงในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ จะเป็นแนวทางในการพัฒนากองทุนสวัสดิการอื่น ๆ ได้ต่อไป

ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :

นายวิเชียร สัตตธารา ผู้ประสานงานกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลเมืองลีง

มือถือ ๐๘๖ ๒๖๑๕๓๓๕

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นายวิเชียร สัตตธารา ๐๘๖ ๒๖๑๕๓๓๕

แสดงความคิดเห็น

profile