“กลุ่มยางก้อนถ้วย ช่วยแก้ไขปัญหาพัฒนาอาชีพ เกิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง”
รมณีย์เป็นตำบลที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอและตัวเมืองเป็นตำบลเล็กๆ มี ๔ หมู่บ้าน ประชากร ๒,๗๗๔ คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ และไม้ยืนต้น
ในปี ๒๕๔๔ ชาวบ้านเริ่มมีปัญหาหนี้สินจากการกู้เงินนอกระบบมาทำการเกษตร ทำให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านมีแนวคิดในการก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสมาชิกเรื่องหนี้สินในชุมชน หนี้นอกระบบ และสร้างสวัสดิการให้กับคนในชุมชน ในปี ๒๕๕๘ เกิดวิกฤติยางพาราราคาตกต่ำทำให้คนในชุมชนมีหนี้สินเพิ่มขึ้นคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการจึงมีการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาจึงมีการลงมติให้ก่อตั้ง “กลุ่มยางก้อนถ้วย”ขึ้น
การพัฒนาอาชีพกลุ่มยางก้อนถ้วย
การตั้งกลุ่มยางก้อนถ้วย มีสมาชิกทั้งหมด ๑๗๐ ครัวเรือน เป้าหมาย คือ เพิ่มอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง โดยได้มีการกำหนดคุณภาพการผลิตยางก้อนถ้วย ดังนี้
๑)เป็นยางที่ไม่มีส่วนเจือปนของเปลือกยาง
๒)ไม่มีส่วนผสมของน้ำกรดทุกชนิดหรือส่วนผสมอื่นใดทั้งสิ้น
๓)ต้องเก็บล่วงหน้าก่อนกลุ่มเปิด ๑ วัน ซึ่งจะทำให้ยางก้อนถ้วยของกลุ่มมีราคาสูงกว่าพ่อค้าทั่วไป
ประโยชน์ที่ได้รับจากการรวมกลุ่ม
๑)ยางมีราคาสูงขึ้นจากเดิม ๒-๓ บาท
๒)สมาชิกกลุ่มยางก้อนถ้วยจะได้รับเงินปันผลคืน ๒๐ เปอร์เซ็นต์จากจำนวนยางที่ขาย
๓)การก่อตั้งกลุ่มดังกล่าวทำให้คนในชุมชนมีความรักความสามัคคีและมีรายได้เพิ่มขึ้น
๔)สมาชิกสามารถยืมเงินจากกลุ่มเพื่อเป็นเงินค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าศึกษาบุตร โดยไม่มีดอกเบี้ย ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ทางกลุ่มจะหักคืนเงินดังกล่าวเมื่อสมาชิกกรีดยางและขายยางได้เท่านั้น
ปี ๒๕๖๑ กลุ่มยางก้อนถ้วยมีรายได้ส่วนต่างจากราคายางกิโลกรัมละ ๓ บาท ส่วนต่างคิดเป็นเงินกว่า ๖แสนบาท จึงได้ต่อยอดโครงการเป็น “ธนาคารต้นไม้บ้านรมณีย์”
การพัฒนาอาชีพจากต้นทุนภายในชุมชน สมาชิกได้รับประโยชน์ร่วมกัน
ตำบลรมณีย์ มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์โดยมีปางช้างจำนวน ๓ ปาง และมีช้างจำนวนมากทำให้มีมูลช้างกลายเป็นขยะมากมาย จึงได้รวมกลุ่มทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในครัวเรือนเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย การซื้อปุ๋ยเคมีราคาสูง กระสอบละ ๗๕๐ บาท เป็นปุ๋ยมูลช้างราคากระสอบละ ๔๐บาท ด้วยมูลช้างหาได้ในพื้นที่เป็นวัสดุเหลือใช้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ จึงเป็นที่สนใจของสมาชิกและคนในชุมชน ที่สำคัญเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชนให้สะอาดน่ามองมากขึ้น เมื่อรายจ่ายลดลงทำให้สมาชิกมีเงินออมมากขึ้น ทางกลุ่มยังมีการให้สมาชิกยืมเงินของกองทุนสวัสดิการฯ เพื่อประกอบอาชีพ เช่น ซื้อรถจักรยานยนต์ในการนำไปประกอบอาชีพกรีดยาง ให้สมาชิกครอบครัวคนพิการยืมเงินเพื่อซื้อวัสดุเพื่อประกอบอาชีพในการเกษตร
ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ มีการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก ๙ ประเภท ได้แก่ สวัสดิการเกิด แก่ เจ็บป่วย ตาย ทุนการศึกษา คนด้อยโอกาส สวัสดิการคนทำงาน สวัสดิการเงินฝาก เป็นต้น มีเงินหมุนเวียนในกองทุน ประมาณ ๒ ล้านบาท นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการยังช่วยเหลือเกี่ยวกับภัยพิบัติในชุมชน ร่วมสนับสนุนและ อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม วันสำคัญต่างๆ สถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน วัด สถานีอนามัย รวมทั้งสนับสนุนการเปิดตลาดนัดประชารัฐ เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยนำผลผลิตทางการเกษตรมาวางขายในชุมชน และงานฝีมือสินค้า OTOP ของชุมชน
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
การดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการภาคประชาชน ตำบลรมณีย์ ก่อให้เกิดผลลัพธ์ ที่สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตชุมชนได้ดังนี้
๑)เกิดการบริหารจัดการทุนอย่างเป็นระบบ
๒)เกิดการพัฒนากลุ่มอาชีพทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยกองทุนสวัสดิการ
๓)เกิดการพัฒนาคนในชุมชนให้รู้จักแก้ไขปัญหาและสามารถพึ่งตนเองได้
๔)เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบของเกษตรกรในชุมชนโดยกองทุนสวัสดิการ
๕)ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต เกิดนวัตกรรมทำปุ๋ยจากมูลช้าง
๖)เกิดสังคมคุณธรรมที่สมาชิกมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบ และใส่ใจส่วนรวม
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
โครงการที่สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน ได้แก่ เปิดตลาดชุมชน (ตลาด ๔ หมู่ร่วมใจ) แปรรูปผลิตภัณฑ์หัวปลี(น้ำปลีกล้วย) โรงน้ำดื่มหยอดเหรียญเพื่อชุมชน เชื่อมโยงกับบริษัทประชารัฐ กองทุนหมู่บ้าน ธ.ก.ส. ท้องถิ่น การจัดทำแผนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
ผู้ประสานงานติดต่อในพื้นที่ :
นางกัลยา โสภารัตน์ ผู้ประสานงานกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลรมณีย์
มือถือ ๐๘๔ ๗๔๔๖๑๔๐
แสดงความคิดเห็น