“สร้างสวัสดิการที่ดี มีความโปร่งใส
สู่หลักประกันชีวิตที่มั่นคง”
เทศบาลตำบลอุโมงค์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำพูน ๑๐ กิโลเมตร ประกอบด้วย ๑๑ หมู่บ้าน ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ราบลุ่ม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ภูมิประเทศมีแม่น้ำไหลผ่าน ดินร่วนซุยเอื้อต่อการเพาะปลูก โดยเฉพาะลำไยซึ่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลอุโมงค์ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ มีทั้งสิ้น ๑๓ กองทุน ๑๑ ชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิก ๗,๓๐๕ คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด ๑๓,๒๓๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๕ ของประชากรทั้งหมด จุดประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการนั้นเพื่อให้คนในชุมชนมีรายจ่ายลดลง สร้างจิตสำนึกให้กับคนอุโมงค์ให้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน และได้รับผลกระทบด้านต่างๆ โดยกองทุนได้จัดสวัสดิการ ๘ ประเภท ๒๔ ข้อ ตั้งแต่ เกิด ไปจนเสียชีวิต ให้กับสมาชิกกองทุนในเทศบาลตำบลอุโมงค์ ดังนี้ เกิด ศึกษา บวช เกณฑ์ทหาร ทำบุญ ผู้สูงวัย เจ็บป่วย และเสียชีวิต
จากจุดเริ่มต้นของการทำความดีสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลอุโมงค์นั้นได้ก่อตั้งขึ้นหลังจากการปรึกษาหารือถึงข้อดี ข้อเสีย รวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเมื่อได้ผลสรุปแล้วจึงเกิดการระดมเงินเข้ากองทุน สมาชิกและคณะกรรมการที่มีจิตอาสาได้ร่วมกันร่างระเบียบ ข้อบังคับ และการดำเนินการ โดยเริ่มให้สวัสดิการแก่สมาชิกในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ และได้จดทะเบียนกองทุนสวัสดิการชุมชน มีการจัดทำโครงการ “รวมพลคนรักการออม” โดยขอรับการสนับสนุนจากสำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำพูน เพื่อรณรงค์ชี้แจงให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออมเพื่อสวัสดิการให้คนอุโมงค์ทราบและสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ภายหลังรับการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาล และงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จึงเกิด ๑๓ กองทุน ๑๑ ชุมชน
กระบวนการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม
คนอุโมงค์นั้นเห็นความสำคัญในการจัดสวัสดิการควบคู่กับงานพัฒนาด้านต่างๆ
๑)การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการดูแลอนุรักษ์แหล่งน้ำ รวมไปถึงการจัดการขยะภายในครัวเรือน
๒)การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จัดโครงการ “เด็กและเยาวชนรักดี” มีการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องโทษของยาเสพติด
๓)เกษตรกรรมยั่งยืน น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
๔)วิสาหกิจชุมชน นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมาจำหน่ายให้กับผู้ที่มาศึกษาดูงาน
๕)ศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้ของโครงการตำบลสุขภาวะของเทศบาลตำบลอุโมงค์และเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการสวัสดิการชุมชนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
๖)สุขภาพ/สาธารณสุข ร่วมมือกันกับโรงพยาบาลอุโมงค์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และกองสาธารณสุขของเทศบาลในการดูแลส่งเสริมป้องกันและรักษาสุขภาพของสมาชิกกองทุน
๗)องค์กรการเงิน/กลุ่มออมทรัพย์/กองทุนหมู่บ้าน ทำงานอย่างมีเป้าหมายมีหลักธรรมาภิบาล
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
จุดเด่นหนึ่งของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลอุโมงค์คือการเชื่อมโยงกับมหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมืองซึ่งมาจากการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนไปสู่ความมั่นคงในเรื่องการเงิน จะเกิดเป็นระบบการเงินการบัญชี และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีคุณลักษณะ ๘ ประการ และมีหลักสูตร ๓ วิชา ประกอบด้วย การสร้างพลเมือง สร้างเสริมระบบบริการสุขภาพ และพัฒนาเครื่องมือสร้างพลเมือง
การเชื่อมโยงดังกล่าวทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจโดยอาศัยในเรื่องของภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิมของคณะกรรมการและสมาชิกกองทุนมาปรับใช้ คือ พื้นฐานความรู้ ความสามารถในการคิด การปฏิบัติโดยการใช้ความรู้และ ประสบการณ์ในการทำงานกองทุน
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
กองทุนอุโมงค์มีการบริหารจัดการกองทุนอย่างเป็นขั้นตอนโดยคณะกรรมการยึดหลักตามแผนการบริหารจัดการที่ดี คนในชุมชนสามารถทำงานได้ตามเกณฑ์ โดยนำเอาหลักการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาลมาใช้ ประกอบด้วย
๑)ยึดประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
๒)เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจกองทุน สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้คัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้
๓)มีประสิทธิภาพเกิดความคุ้มค่า กองทุนมีระเบียบ ข้อบังคับ ให้ทั้งสมาชิกและคณะกรรมการถือปฏิบัติ และมีการจัดระบบบัญชี-การเงินอย่างถูกต้องเป็นปัจจุบัน มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ กองทุนจะมีสมุดบัญชี ๓ เล่ม ได้แก่ สมุดเงินสด สมุดรายวันทั่วไป และสมุดแยกประเภท โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบภายนอกจากเจ้าหน้าที่เทศบาลอุโมงค์ ปีละ ๒ ครั้ง
๔)ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อลดระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติรายรับรายจ่ายให้กับสมาชิกโดยยึดระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติงาน
๕)การปรับปรุงภารกิจ จากการประชุมที่จัดขึ้นทุกเดือนเพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไข
๖)อำนวยความสะดวก สนองความต้องการ ให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการระดับชุมชน ในการกำหนดสถานที่ วัน เวลา ในการดำเนินการโดยยึดความพร้อมของสมาชิกเป็นหลัก
๗) ประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้เห็นภาพรวมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน ว่ามีการดำเนินงานอะไรบ้าง เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
มุ่งมั่นให้เกิดความต่อเนื่องเพื่อสร้างความยั่งยืน คนอุโมงค์มีความเอื้ออาทรต่อกัน ภาคภูมิใจในการออมของตน จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี ได้เป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาดูงาน ได้รับรางวัลการบริหารจัดการจากจังหวัด นอกจากนี้แล้วมีการของบประมาณสนับสนุนจากสำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำพูน และกองทุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
ผู้ติดต่อประสานงานพื้นที่ :
นางอรวรรณ ขว้างจิตต์ (ผู้ประสานงานหลักกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลอุโมงค์)
ที่อยู่ ๒๓๑ หมู่ที่๘ ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
เบอร์โทรศัพท์: ๐๘๖ ๑๙๔ ๗๗๙๓
แสดงความคิดเห็น