กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลปลักแรด ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ในช่วงแรกจัดสวัสดิการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เน้นการสนับสนุนด้านการประกอบอาชีพ โดยยังไม่ได้เปิดรับสมาชิกอย่างกว้างขวาง อีกทั้งประชาชนมีสวัสดิการหลายอย่างแล้ว เช่น ประกันชีวิต ข้าราชการบำนาญ เงินฌาปนกิจ รวมทั้งคนมีฐานะ อีกทั้งบางคนยังไม่เข้าใจคำว่าสวัสดิการ จึงไม่ได้สนใจเข้าร่วมกองทุน แกนนำจึงได้พูดคุยกันเรื่องการทำบุญร่วมกัน จึงเกิดเป็น “กองบุญ” ที่มาจากความต้องการของประชาชน โดยยึดหลักการพึ่งตนเองและมีส่วนร่วม จึงเป็นแผนดำเนินการให้สมาชิกทุกคนต้องจ่ายเงินวันละบาท หรือจ่ายเงินสมทบกองทุนรายปีปีละ ๓๖๕ บาท เพื่อจัดสวัสดิการช่วยเหลือผู้ยากลำบาก ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสตามอุดมการณ์ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี และให้อย่างมีเงื่อนไขและรับอย่างมีเงื่อนไข”
ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลปลักแรด มีสมาชิก ๑,๒๐๐ คน มีเงินกองทุนประมาณ ๒,๓๘๗,๕๑๐ บาท (ณ.วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔) จัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก ๓๒ สวัสดิการ มีระบบการจัดทำบัญชีที่สามารถตรวจสอบได้ สมุดควบคุมบัญชีสมาชิก บัญชีรายรับ-รายจ่าย เอกสารทุกอย่างเป็นปัจจุบันและแบ่งเป็นหมวดหมู่นอกจากนี้กองทุนยังสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมประจำปี ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และก้าวสู่ความยั่งยืน ยกระดับพัฒนาขยายผลสู่การจัดสวัสดิการชุมชนจัดการตนเอง
ในปี ๒๕๖๒ จะดำเนินการจัดซื้อที่ดินตำบลปลักแรดหรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย โดนไล่ที่ให้ย้ายออกจากเขตแก้มลิงบึงระมาณ มาอยู่ในพื้นที่ที่จะซื้อในปัจจุบัน กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลปลักแรด จึงได้จับมือกับกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลพันเสาและกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบึงระมาณ เพื่อพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรปกครองท้องถิ่นทั้ง ๓ แห่ง
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
๑. การเฟ้นหาผู้ก่อการดี ที่มีความคิดจะช่วยเหลือประชาชนภายใต้การจัดสวัสดิการ โดยจัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง จุดประกายความคิดเห็นความสำคัญในสิ่งที่ทำ ดำเนินการค้นหาศักยภาพของชุมชน ดำเนินการสร้างผู้นำเรื่องสวัสดิการชุมชน ดำเนินการออกระเบียบ ข้อบังคับกำหนดเรื่องสวัสดิการและหลักเกณฑ์ ในการเป็นผู้ให้และผู้รับ ดำเนินการบริหารจัดการกองทุนและขยายผลไปในพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งตำบล โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน อาทิ เช่น บ้าน วัด โรงเรียน ท้องที่ ท้องถิ่น องค์กรชุมชน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
๒. ความมุ่งมั่นผูกพันของผู้นำองค์กรทุกระดับ ในการให้การสนับสนุนและแสวงหาวิธีการเชิญชวนให้คนในองค์กรที่ยังไม่มีปัญหาเข้าร่วมโดยสมัครใจ
๓. ผู้นำทุกระดับปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ร่วมกันคิดและทำ ตามสุภาษิตที่ว่า “ทำดีให้เด็กดู เป็นครูให้เด็กเห็น”
๔. ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการส่งเสริมคุณธรรม คำนึงอยู่เสมอว่า การเปลี่ยนลักษณะนิสัยหรือจิตใจของคนต้องอาศัยเวลาและการดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่อง จึงไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดเชิงปริมาณ และเร่งรัดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไป และการสร้างคุณธรรม “ต้องเริ่มที่ตนเอง”ผู้บริหารองค์กรต้องใช้ศิลปะในการสร้างสังคมคุณธรรมและให้กำลังใจอยู่เสมอและให้ข้อคิดว่า “ทำดีได้ไม่ต้องเดี๋ยว” และ “ทำดี ง่ายนิดเดียว” รวมทั้งการไม่เอาเปรียบและละเมิดสิทธิผู้อื่น ไม่ก้าวร้าว และประกอบสัมมาอาชีพเพื่อสร้างสังคมที่ดี ซึ่งสรุปได้ว่า มนุษย์ต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น องค์กรคุณธรรมจึงจะเกิดขึ้น
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
๑. เกิดกระบวนการการทำงาน การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมากขึ้น เห็นได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางกองทุนฯจัดขึ้น
๒. เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในชุมชนกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
๓. เกิดการขยายผลการจัดสวัสดิการทุกรูปแบบ โดยการเข้ามามีส่วนร่วมของท้องถิ่น
๔. มีการเชื่อมโยงสวัสดิการกับกลุ่มองค์กรต่างๆ เช่น วัด โรงเรียน สภาองค์กรชุมชน
๕. ส่งเสริมสถาบันครอบครัว ให้ลูกดูแลพ่อแม่เมื่อเจ็บป่วยต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
๖. ให้ทุนการศึกษากับเยาวชนที่เป็นสมาชิกทุกช่วงชั้น
๗. สมาชิกและคนในชุมชนได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของกันและกันอย่างเท่าเทียม
๘. เกิดการเสียสละความเอื้ออาทร และเห็นใจผู้ที่ลำบากกว่า มองว่าการออมวันละบาทเป็นการได้ร่วมทำบุญกันในชุมชน
๙. เกิดการตื่นตัว การมีส่วนร่วมและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมหน้า
๑๐. สร้างวินัยการออม การสร้างหลักประกันความมั่นคงและหนุนเสริมการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว
เป้าหมายที่จะดำเนินต่อ
ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของภาคประชาชน โดยใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกแล้ว กองทุนสวัสดิการชุมชนยังอยากเผื่อแผ่สวัสดิการแก่ผู้ถูกทอดทิ้งด้วย ซึ่งก่อให้เกิดคุณค่าทางจิตใจ เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมด้วยความเอื้ออาทร เสียสละ และเกิดความรักความสามัคคีในชุมชน เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของชุมชน ในการจัดการปัญหาของชุมชนอย่างเข้มแข็ง
การเชิญให้ประชาชนที่เป็นข้าราชการบำนาญ คนที่มีฐานะปานกลางถึงร่ำรวย ให้มาร่วมกันทำบุญปีละ ๓๖๕ บาท เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน โดยยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ และปรับเปลี่ยนสวัสดิการให้เพียงพอต่อความต้องการของชุมชน
ผู้ประสานงานพื้นที่ : นายชัชวาลย์ วงศ์สวรรค์
มือถือ ๐๘๖-๙๒๙๙๑๑๑
แสดงความคิดเห็น