community image

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลออย

อ.ปง ต.ออย จ.พะเยา
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 0 คน
cover

สวัสดิการสร้างความสุข ชุมชนอยู่อย่างญาติมิตร เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”


         ในปี ๒๕๕๒ มีการจัดเวทีพูดคุยกันถึงการขับเคลื่อนชุมชนว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ตำบลออย จนได้ข้อสรุปที่ว่าให้ขับเคลื่อนประเด็นการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลออย เกิดการรวมตัวของกลุ่มองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ตำบลออย ซึ่งทำการจดแจ้งและขอจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลออย กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

         ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ชาวบ้านต้องประสบปัญหาภัยแล้งที่ครอบคลุมพื้นที่ตั้ง ๑๔ หมู่บ้าน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำในชุมชน ทั้งใช้อุปโภคบริโภค รวมไปถึงใช้ในการทำการเกษตร อันเป็นอาชีพหลักของประชากรร้อยละ ๘๐ ในพื้นที่ แม้จะมีแหล่งน้ำธรรมชาติมากมาย แต่เมื่อภัยแล้งมาเยือนก็จำต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไปทุกปี


กระบวนการขับเคลื่อนคุณธรรม

สวัสดิการที่ดูแลนอกเหนือจากตัวบุคคล “สวัสดิการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลออย ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน ๑,๒๗๒ คน จำนวนเงินกองทุนทั้งสิ้น ๑,๒๕๓,๗๕๔ บาท แรกเริ่มมีการขับเคลื่อนสวัสดิการอยู่ ๓ ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเกิดหรือการคลอดบุตร ด้านการเจ็บป่วย และด้านการเสียชีวิต จากนั้นได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบอีกครั้งเมื่อปี ๒๕๕๗ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้เพิ่มสวัสดิการอื่นๆเช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสาธารณะประโยชน์

         จากปัญหาภัยแล้งที่กล่าวไปข้างต้น คณะทำงานจึงเล็งเห็นว่าทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของทุกคน ประกอบกับฝนทิ้งช่วงในปี ๒๕๕๗ ทำให้เกิดการแย่งน้ำในการทำนา อันเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง จึงเกิดแนวคิดในการแก้ไข้ปัญหาภัยแล้งด้วยการทำฝายยกระดับน้ำขึ้นในลำน้ำงิม โดยสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเพิ่มกฎระเบียบการใช้น้ำร่วมกัน มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำเพื่อเสนอถึงประเด็นปัญหา และขอทำฝายเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ

         ผลหลังจากการประสานกับทางกรมทรัพยากรน้ำ ทางประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลออย และประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลออย จึงได้มีโอกาสได้ไปศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำฝายมีชีวิตที่หมู่บ้านไชยมนตรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้นำความรู้ที่ได้รับมาทำการชี้แจงและประชาคมในโครงการที่จะทำฝายขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ทั้งเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคในชุมชน และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศท่าน้ำวังปลา จึงเกิดโครงการสร้างฝายมีชีวิต พิชิตภัยแล้งขึ้น ภายใต้การสนับสนุนบุคลากรจากสำนักงานน้ำภาค ๙ และได้รับงบประมาณสำหรับซื้ออุปกรณ์ทำฝาย ประสานงานของความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ ในส่วนจำเป็นที่ยังขาดเหลือ รวมไปถึงความช่วยเหลือจากจิตอาสา และสมาชิกกองทุนสวัสดิการที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา


ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

ผลจากการทำฝายนั้นสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี มีระดับปริมาณน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศท่าน้ำวังปลาหน้าวัด ทำให้ปลาท้องถิ่นขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วเกิดเป็นแหล่งพักผ่อนและท่องเที่ยวให้ชุมชน จากปัญหาความไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำร่วมกันของคนในชุมชน เปลี่ยนเป็นการร่วมสนับสนุนทั้งแรงงาน งบประมาณ และความรู้ ระหว่างทางของการมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกันของชาวบ้านเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน เห็นมิตรแท้จากการลงแรง เห็นเพื่อนแท้จากหน่วยงานที่ช่วยเหลือ ในทุกวันของการทำงานจะมีการสรุปบทเรียนร่วมกันในแต่ละวันทั้งชาวบ้านและหน่วยงานภาคี ร่วมเรียนรู้จากการปฏิบัติ ร่วมเรียนรู้จากการสรุป ความสามัคคีที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน


ต่อยอดสู่สุขภาวะอย่างมีคุณธรรม    

ผลของการช่วยเหลือกัน ผ่านการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลออย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฝายแก้ไขปัญหาน้ำ ยังมีการจัดกิจกรรมเรื่องการจัดการขยะในชุมชนและสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนในชุมชนไปพร้อมกัน เมื่อสุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น การจ่ายสวัสดิการชุมชนเป็นค่ารักษาพยาบาลจะลดลงไปด้วย กิจกรรมที่กองทุนสวัสดิการชุมชนให้ความสำคัญ ดังนี้  

๑)เรื่องการจัดการขยะในชุมชน ให้ความรู้กับสมาชิกการคัดแยกขยะในครัวเรือน ลดปริมาณขยะที่จะนำไปทิ้ง นำขยะมาขายยังจุดรับซื้อขยะ ส่งเสริมให้ชุมชนทำเสวียนไม้ไผ่รอบต้นไม้เพื่อลดการเผาขยะแห้งในช่วงหน้าแล้ง ป้องกันการเกิดหมอกควัน ที่จะส่งผลต่อสุขภาพของสมาชิกกองทุน 

๒)กิจกรรมสร้างจิตสำนึกให้กับเด็ก ได้ประสานกับทางโรงเรียนบ้านดอนเงิน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลออย พาเด็กๆ ไปเรียนรู้นอกห้องเรียน พาเด็กไปพื้นที่โล่งที่มีการตัดต้นไม้ออกไป และจุดที่มีต้นไม้ มีร่มเงา ให้เด็กๆ ได้เปรียบเทียบและอธิบายให้รู้ถึงประโยชน์ของต้นไม้และร่วมปลูกต้นไม้คนละต้น

๓)กิจกรรมบวชป่า ได้ร่วมกับชุมชนบ้านหมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๑๓ และหมู่ที่ ๙ ทำกิจกรรมการบวชป่าที่ป่าห้วยโป่ง เพราะมีคนมาลักลอบตัดต้นไม้และไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับคนในพื้นที่ได้รักและหวงแหนป่า โดยผ่านประเพณี และนิมนต์พระสงฆ์ ที่เป็นที่เคารพนับถือของคนในพื้นที่มาประกอบพิธี โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมและสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรม เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ  โรงเรียนและชุมชน เป็นต้น

๔)กิจกรรมทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นการส่งเสริมให้ลดต้นทุนการเพาะปลูก ลดการใช้สารเคมี และนำขยะเปียกหรือเศษพืชผักที่มีเหลือในชุมชนนำมาหมัก และนำไปใช้แทนปุ๋ยเคมีได้ กิจกรรมนี้เป็นการทำงานเชื่อมโยงกับ กศน.ตำบลออย และกรมพัฒนาที่ดินจังหวัดพะเยา

๕)กิจกรรมปลูกต้นไม้ ส่งเสริมให้สมาชิกทุกครัวเรือนนำต้นไม้ที่ทุกคนอยากจะปลูกแล้วไม่มีที่ปลูก ไปปลูกที่ป่าสุสานเดิมของหมู่บ้านดอนเงิน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาชิกกองทุนที่อยู่ในหมู่บ้านเป็นอย่างดี

ทั้งนี้การเพิ่มต้นทุนทางสังคมด้วยเครือข่ายที่มีศักยภาพ และเหนือสิ่งอื่นใด ผลจากการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลออย ที่ดำเนินการแบบมีส่วนร่วมอย่างมีคุณธรรม ซึ่งนอกจากสวัสดิการทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงินที่ได้รับและครอบคลุมแล้วนั้น เป็นความสุข ความยั่งยืนในคุณภาพชีวิตที่ดีบนวิถีของคนในชุมชนตำบลออย อำเภอปง จังหวัดพะเยา


ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :   

นางสาวนารี เวียงคำ 

ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลออย

๑๐๘ หมู่ที่ ๑๗ ตำบลออย อำเภอปง

จังหวัดพะเยา   

E-mail : naree.n@hotmail.com 

เบอร์โทรศัพท์: ๐๘๖-๑๘๖๐-๘๔๘ 

ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นางสาวนารี เวียงคำ ๐๘๖-๑๘๖๐-๘๔๘

แสดงความคิดเห็น

profile