กว่าจะมาเป็นวันนี้
ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ชุมชนคุณธรรมวัดประทุมบูชา ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปราจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ จึงมีสภาพเหมาะสมต่อการเพาะปลูก ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อีกทั้งมีการประกอบอาชีพทำกระชังเลี้ยงปลา การเลี้ยงกุ้งแม่น้ำ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของผลผลิตที่มีเพียงปีละครั้ง ได้ผลไม่แน่นอน และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ทำให้เกิดช่วงว่างเว้นของรายได้ สภาพปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสภาพการเงินของประชาชนในชุมชน ก่อให้ปัญหาด้านเศรษฐกิจส่งผลให้ประชาชนในชุมชน ต้องกู้ทรัพย์สิน เพื่อมาใช้จ่ายในช่วงที่ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ชุมชนคุณธรรมวัดประทุมบูชาได้นำกระบวนการพัฒนา ๓ มิติ ๙ ขั้นตอน มาใช้เป็นกระบวนการหลักในการขับเคลื่อนชุมชนให้มีความเข้มแข็งโดยการรวมกลุ่มประชุมวางแผนการทำงาน กำหนดปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ ภายใต้การนำของผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และเป็นศูนย์รวมกำลังใจของคนในชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่
๑.มีการประชุมเพื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะขับเคลื่อนให้เป็นชุมชนคุณธรรมร่วมกัน
๒.การจัดทำหนังสือแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนด้วยพลังบวร
๓.ร่วมกันกำหนดเป้าหมายปัญหาที่อยากแก้ความดีที่อยากทำ
๔.ร่วมกันจัดทำแผนส่งเสริมคุณธรรมของชุมชนเกี่ยวกับปัญหาที่อยากแก้ความดีที่อยากทำ
๕.ติดตามประเมินผลสำเร็จ เพื่อทบทวน ปรับปรุง แผนส่งเสริมคุณธรรมของชุมชนให้มีคุณภาพและบรรลุผล ในรอบปีงบประมาณ
๖.ชุมชนมีการประกาศยกย่องเชิดชูบุคคลผู้ทำความดีและหรือบุคคลผู้มีคุณธรรม ในชุมชนและหรือบุคคลอื่นที่ทำความดีให้กับชุมชน ในรอบปีงบประมาณ
๗.มีการจัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาของชุมชน ทำให้ปัญหาของชุมชนได้รับการแก้ไข
๘.นนำหลักธรรมทางศาสนาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม มาแก้ปัญหาของชุมชน และบ่มเพาะคุณธรรมความดีที่อยากทำ
๙.ชุมชนมีองค์ความรู้จากการเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ สามารถเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดให้กับชุมชนอื่นเข้ามาศึกษาดูงาน
ความท้าทาย
๑.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้วยวิถีชีวิตของคนในพื้นที่สัมพันธ์กับแม่น้ำบางปะกงเป็นหลัก การประกอบอาชีพจึงไม่สามารถคาดเดาผลผลิตได้ เกิดปัญหาด้านรายจ่าย จึงเป็นช่องทางที่ดีในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม เพราะพื้นฐานเดิมของชุมชนมีวัดประทุมบูชา กระตุ้นการประกอบการของคนในพื้นที่ผ่านความเชื่อ เน้นให้มีการรวมกลุ่มพัฒนาชุมชน มีการรวมกลุ่มกันทำจัดตั้งเป็นวิสาหกิจ
๒.ปัญหาด้านการมีส่วนร่วม เนื่องด้วยการรวมกลุ่มยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และเห็นผลชัดเจน อาจจะเนื่องด้วยความกังวลด้านปัญหาเศรษฐกิจ พระครูพิพัฒน์ธรรมภาณี (ธนชัย) เจ้าอาวาสวัดประทุมบูชา จึงเป็นตัวแทนผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ เป็นศูนย์รวมและนำประชาชนร่วมมือกันพัฒนา เป็นเสมือนผู้เชื่อมประสานความสัมพันธ์ในชุมชนให้เข้าหากัน และสนับสนุนเพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วง
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
๑.พอเพียง คนในชุมชนนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ยึดหลักการ “พึ่งตนเอง” ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นของตนมาใช้สอยภายในครัวเรือน เมื่อมีเหลือจึงนำมาจำหน่าย สร้างรายได้นอกเหนือจากงานประจำ ส่งเสริมการจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่ายภายในครัวเรือน
๒.วินัย มีความยึดมั่นและรับผิดชอบในหน้าที่และการกระทำของตนเอง ทั้งวินัยและความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ปฏิบัติตนตามจริยธรรม เคารพต่อกฎหมาย นอกจากนี้ยังรณรงค์เรื่องปัญหาขยะ ให้ความรู้การจัดการปัญหาขยะคัดแยกขยะก่อนทิ้ง แบ่งเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย
๓.สุจริต มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในหลักความถูกต้อง มีการตั้งคณะกรรมการสอดส่องดูแลการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน เพื่อตรวจสอบความสุจริต และความโปร่งในในการทำงาน สามารถเปิดเผยและตรวจสอบได้
๔.จิตอาสา มีความใส่ใจต่อสังคม มีจิตสาธารณะและอาสาในการลงมือทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมด้วยความรักและความสามัคคี โดยไม่หวังผลตอบแทน
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
ผู้นำชุมชนมีเป้าหมายที่จะนำชุมชนคุณธรรมวัดประทุมบูชาไปสู่ชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชน ยลวิถี กระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการสนับสนุนการประกอบอาชีพของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์มาตรฐานสู่สากล พัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวด้วยสื่อประชาสัมพันธ์และกระตุ้นการรับรู้แก่สังคมภายนอก ยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการรักษา ฟื้นฟู และคงความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชุมชน พร้อมทั้งเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นได้เป็นแบบอย่าง เพื่อนำกลับไปประยุกต์ใช้กับชุมชนของตนเองสืบต่อไป
ข้อมูลการติดต่อ
นางสาวธนัญญ น้าวิลัยเจริญ ๐๘๑ ๘๗๔ ๔๐๙๘
แสดงความคิดเห็น