“Waste Wow Thapma
Tourism & Health
สู่ชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน”
เทศบาลตำบลทับมาเป็นพื้นที่ในเมืองที่ประสบปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น จึงได้ดำเนินโครงการจัดการขยะ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อลดปริมาณขยะและลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะ ใช้กระบวนการ ROSES แบบครบวงจร มีการต่อยอดกระบวนการ ROSES โดยการแปรรูปและสร้างมูลค่าจากขยะ สร้างเครือข่ายสู่การท่องเที่ยว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีสุขภาพจิตที่ดี รวมถึงลดการระบาดของโรคที่เกิดจากสัตว์นำโรค โดยการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
การจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจรแนวทางใหม่ที่เน้นกระบวนการปฏิบัติและพัฒนานวัตกรรมไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะในครัวเรือน แล้วนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้และส่งเสริมการใช้ทรัพยากร อย่างคุ้มค่า โดยเปลี่ยนขยะมาสร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชนโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะ ขยายผลไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวพร้อมจัดทำศูนย์การเรียนรู้ สร้างเศรษฐกิจในชุมชน อันก่อให้เกิดรายได้เพื่อนำไปสู่การดูแลด้านสุขภาพประชาชนทุกระดับ แบ่งเป็น ๗ ขั้นตอน ได้แก่ สร้างองค์ความรู้ในการคัดแยกขยะ นำความรู้เรื่องการคัดแยกขยะไปสู่การปฏิบัติ พัฒนาคุณภาพบริการ สร้างต้นแบบในชุมชน พัฒนาศูนย์เรียนรู้ การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการถอดบทเรียนจัดการความรู้ มีรายละเอียด ดังนี้
๑)สร้างองค์ความรู้ในเรื่องการคัดแยกขยะแก่ประชาชนในพื้นที่
๒)นำความรู้เรื่องการคัดแยกขยะไปสู่การปฏิบัติ โดยการจัดตั้งเครือข่ายขยะยิ้ม และสร้างภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน
๓)พัฒนาคุณภาพบริการ โดยการปรับปรุงระบบเก็บขนขยะ แยกระบบการเก็บขน และส่งกำจัดตามประเภทขยะ
๔)สร้างต้นแบบในชุมชนเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่ชุมชนที่เหลือ โดยการจัดประชุมระดมความคิดเห็นของประชาชนที่ยึดหลักการมีส่วนร่วม โดยใช้พลัง “บวร” เพื่อให้ได้ต้นแบบที่ตรงตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพ ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะ ใช้กระบวนการ ROSES แบบครบวงจร
๕)การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการขยะเรียนรู้ผสมผสานอัตลักษณ์และภูมิปัญญาสู่วิถีพอเพียงและกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวทุกชุมชน
๖)การนำขยะมาสร้างมูลค่า ด้วยการแปรรูป ตามหลัก ๔ ป พอเพียง (ประดิษฐ์ ประยุกต์ ประหยัด ประโยชน์)
๗)ถอดบทเรียนนวัตกรรม โดยการติดตามและประเมินผลจากทุกภาคส่วน
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมที่ควบคู่ไปกับการจัดการวิถีชุมชนแบบบูรณาการของเทศบาลตำบลทับมา เป็นนวัตกรรมการทำงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและพื้นที่อย่างเห็นได้ชัดเจน
ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการ ๔ ป พอเพียง ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ลดรายจ่ายสร้างรายได้ สู่การท่องเที่ยวแบบวิถีพอเพียง และต่อยอดจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมีจุดเริ่มต้นจากความพยายามแก้ไขปัญหาขยะ จนเกิดแนวคิดการต่อยอดนำขยะมาเป็นทรัพยากร เป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย
เกิดสังคมแห่งการเสียสละ ประชาชนมีความตื่นตัวในการดูแลรักษาความสะอาดในพื้นที่ โดยมีหัวใจหลักคือการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย สร้างเครือข่ายทำให้เกิดความสามัคคีในชุมชน และความเข้มแข็ง มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาดำเนินกิจกรรมเพื่อส่วนรวม
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
นวัตกรรมการบริหารจัดการขยะ ใช้รูปแบบกระบวนการ ROSES แบบครบวงจร มีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนเมือง มุ่งสู่การพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนำกระบวนการดังกล่าว มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติไว้ในแผนพัฒนา ๕ ปี โดยมีนโยบายผู้บริหารและวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม แนวทางสร้างความต่อเนื่องโดยพัฒนาโครงการนวัตกรรม ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด ยุทธศาสตร์ภาคและยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เพื่อความสุขของประชาชนในตำบลทับมา
ผู้ประสานงานในพื้นที่
นางสาวกันต์สินี รุ่งสุรฉัตร์ หัวหน้าฝ่ายแผนงานและงบประมาณ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ โทร ๐๙๘-๓๕๑-๘๔๗๑
แสดงความคิดเห็น