“ดอนแก้ว ตำบลแห่งสุขภาวะ”
ตำบลดอนแก้ว เป็นชุมชนกึ่งเมือง กึ่งชนบท ประกอบด้วย ๑๐ หมู่บ้าน ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่มีความหลากหลาย ส่งผลให้การบริหารจัดการตำบลดอนแก้ว ต้องอาศัยหลักการมีส่วนร่วมทั้งในภาคชุมชนเมืองและชุมชนชนบท ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา บนวิสัยทัศน์การทำงานเพื่อพัฒนาตำบลคือ “ดอนแก้ว ตำบลแห่งสุขภาวะ” บนความมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในตำบลดอนแก้วมีความสุขและร่วมดูแลกันและกันในรากฐานชุมชนเอื้ออาทร พอเพียง ด้วยพลังจิตอาสาที่มีการช่วยเหลือกันและกัน จนพัฒนาสู่การมีวิทยาลัยจิตอาสาที่เป็นแหล่งบ่มเพาะทางความรู้และพัฒนาศักยภาพจิตอาสาให้มีความเชี่ยวชาญแบบมืออาชีพ รวมทั้งการสร้างอาสาสมัครรุ่นใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทำงานของกลุ่มจิตอาสาเป็นการทำงานเชิงรุกที่อาศัยหลักการทำงานผ่านการใช้ใจในการทำงาน บนการรับการสนับสนุนการขับเคลื่อนการทำงานจากภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ เอกชน มูลนิธิและภาคประชาชนในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน
ภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉินการเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด 19 ในต้นปี ๒๕๖๓ ที่ผ่านมาพบว่าเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นโดยประชาชนไม่ทันตั้งตัวและไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่างๆ จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่มาของการจัดการปัญหาด้วยการดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการชุมชนโครงข่ายอัจฉริยะตำบลดอนแก้ว” ซึ่งมีเป้าหมายเป็นศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจในการดูแลประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม อย่างเกื้อกูล
เป้าหมายและภารกิจ “ศูนย์บริหารจัดการชุมชนโครงข่ายอัจฉริยะตำบลดอนแก้ว”
๑)เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดูแลประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมอย่างเกื้อกูลในภาวะวิกฤติด้วยพลังภาคี
๒)เพื่อพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัคร จิตอาสาหรือประชาชนที่สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมในภาวะวิกฤติ
๓)เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทั้งเชิงรับ เชิงรุก ในการจัดการตนเองของแต่ละครัวเรือนในภาวะวิกฤติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๔)เพื่อสร้างระบบและกลไก “กองทุนพลเมืองจิตอาสา” ขับเคลื่อนกระบวนการประชาสัมพันธ์ จัดหาและระดมทุน เพื่อเกื้อกูลผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งผู้ประสบปัญหาในภาวะวิกฤติ
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
การเกิดปัญหาใหม่ในภาวะวิกฤติ ทำให้ระบบการบริการภาครัฐต้องปรับระบบบริการ ส่งผลให้เกิดความล่าช้า ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประสบปัญหาทางสังคมต่อภาวะวิกฤติได้ แนวทางการจัดการความยากลำบากและปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การนำใช้ทุนและศักยภาพชุมชน เพื่อร่วมจัดการปัญหาในแนวทางชุมชนเอื้ออาทร สังคมเกื้อกูล รวมทั้งการใช้แนวทางการช่วยเหลือแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีทุกช่องทางเชื่อมการสื่อสารกับภาคประชาชนเพื่อให้เกิดการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และตอบสนองต่อมาตรการทางสังคม
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
๑)เกิดศูนย์บริหารจัดการชุมชนโครงข่ายอัจฉริยะตำบลดอนแก้ว”เป็นศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดูแลประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมอย่างเกื้อกูลในสภาวะวิกฤติด้วยพลังภาคี
๒)อาสาสมัครจิตอาสามีทักษะการทำงานเพิ่มขึ้นต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน และเกิดจิตอาสาหน้าใหม่ ในภาคประชาชน บริษัท องค์กร มูลนิธิ ในตำบลดอนแก้ว
๓)เกิดกิจกรรมทั้งเชิงรับ เชิงรุก สำหรับการจัดการตนเองของแต่ละครัวเรือนในภาวะวิกฤติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๔)เกิดระบบและกลไก “กองทุนพลเมืองจิตอาสา” พลังการขับเคลื่อนกระบวนการประชาสัมพันธ์ จัดหาและระดมทุน เพื่อเกื้อกูลผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งผู้ประสบปัญหาในภาวะวิกฤติ
รวมถึงสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน เกิดการจัดการตนเองในภาวะวิกฤติด้วยการเรียนรู้สภาพปัญหา การปรับตัว และการเกื้อกูลผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ยากไร้หรือด้อยโอกาส เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้โดยใช้ฐานทุนทางสังคม นำมาใช้ประโยชน์ทุนและศักยภาพผ่านกระบวนการจิตอาสา บนความพอเพียง ร่วมสร้างสำนึกวินัย บนความสุจริตอันนำไปสู่ชุมชน สังคม เกื้อกูลในภาวะวิกฤติ
ผู้ประสานงานในพื้นที่
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
เลขที่ ๒๐๐ หมู่ที่ ๔ บ้านป่าแงะ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
โทร. ๐๕๓ ๑๒๑ ๕๘๕ ต่อ ๑๘,๑๙
แสดงความคิดเห็น