community image

ชุมชนคุณธรรมไตลื้อเมืองลวงเหนือ

อ.ดอยสะเก็ด ต.ลวงเหนือ จ.เชียงใหม่
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 30 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 5 คน
cover

กว่าจะมาเป็นวันนี้

“ดั๊กจื้อกื้อ เหมือนลื้อฟังธรรม” ถ้อยคำนี้เป็นสำนวนล้านนา ที่สื่อให้รู้ว่าคนไตลื้อยึดมั่นในพระพุทธศาสนา การอพยพของคนไตลื้อจากสิบสองปันนามาอยู่ในล้านนาไทยในปัจจุบันนั้นยาวนาน จนทำให้วิถีชีวิต วัฒนธรรมความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย จนแทบจะมองไม่เห็นถึงซึ่งวัฒนธรรมไตลื้ออันเป็นรากเหง้าดั้งเดิมหลงเหลืออยู่ แต่ชุมชนโชคดีที่มีวัดอันเป็นศูนย์รวมใจของคนในชุมชน วัดศรีมุงเมืองนั้นมีเจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระนักพัฒนาที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลจึงช่วยให้ชุมชนได้แสดงอัตลักษณ์ความเป็นวัฒนธรรมไตลื้อ โดยสร้างมหาวิหารสถาปัตยกรรมแบบไตลื้อให้เป็นที่ปรากฏ พร้อมกับรณรงค์ให้ชาวบ้านได้สวมใส่ชุดไตลื้อกันทั้งหมู่บ้าน จึงทำให้ชุมชนได้ตื่นตัวกับวัฒนธรรมไตลื้อและเกิดความรักความภาคภูมิใจในที่สุด ซึ่งแรกเริ่มแต่เดิมนั้น คนในชุมชนต่างเขินอายที่จะต้องสวมใส่ชุดไตลื้อ แต่พอทางวัดรณรงค์ให้ใส่มาในงานวัดแล้ว ทุกคนก็ยินดีใส่ด้วยความภาคภูมิใจ จนต่อมาได้เกิดแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมไตลื้อในชุมชน ทางวัดก็ยังคงส่งเสริม ประกอบกับมีหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน จากที่คนภายนอกไม่เคยรู้จักชุมชนเลยก็ได้มารู้จักและเข้ามาสัมผัสกับวิถีแห่งวัฒนธรรมจนเกิดความประทับใจ


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ         

         “จากนักวิจัยท้องถิ่น กลายมาเป็นท่องเที่ยวโดยชุมชน” ด้วยความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไตลื้อของคนในชุมชน ทำให้เทศบาลตำบลลวงเหนือเห็นแนวทางการพัฒนาและส่งเสริม จึงได้เริ่มจากให้สถาบันท่องเที่ยวโดยชุมชนมาเป็นวิทยากรการอบรมโฮมสเตย์ และเมื่อวิทยากรเห็นว่าทางชุมชนมีความพร้อมที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงได้นำพาชุมชนมาเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ออกสำรวจและสืบค้นประวัติความเป็นมาอันเป็นรากเหง้าของชุมชน จนนักวิจัยท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจในรากเหง้าของตนเอง สามารถบอกเล่าประสบการณ์ต่างๆ ได้ จึงได้รวมกลุ่มกันทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน ใช้ทุนทางประเพณีวัฒนธรรมที่มีอยู่ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ วัฒนธรรม นำให้ชุมชนคิด ชุมชนทำ ชุมชนได้ และชุมชนยั่งยืน ” ทางกลุ่มได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เอาวัฒนธรรมไตลื้อเป็นจุดเด่น ทั้งในด้านการแต่งกาย ภาษา อาหาร ศิลปวัฒนธรรมและการละเล่นต่าง ๆ จนผลงานด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป 

ตลอดจนกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นต้น ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อชุมชนมีรายได้ ชุมชนจึงปันกำไรให้กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มได้นำเงินจากการปันกำไรดังกล่าวมาช่วยโรงเรียน วัด และชุมชน จึงทำให้เงินหมุนเวียนในชุมชน เมื่อเศรษฐกิจดี ทุกชีวีก็มีความสุข และทุกคนก็สนุกเพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชน


ความท้าทาย

         “ความไม่รู้ ทำให้ก้าวสู่การพัฒนา” ด้วยความเป็นนักวิจัยที่เป็นเสมือนวัคซีนที่มาสร้างภูมิต้านทานให้แก่เราฉันนั้น เมื่อพบเจออุปสรรคและปัญหาสารพัน ทางชุมชนไม่ได้ละเลยนิ่งเฉยแต่อย่างใด กลับนำอุปสรรคและปัญหาดังกล่าวมาคิดวิเคราะห์ตามหลักการของอริยสัจสี่ เมื่อมีทุกข์ ก็หาสาเหตุแห่งทุกข์ คิดค้นแนวทางแก้ไขและนำแนวทางแก้ไขไปปฏิบัติ ทั้งนี้ ต้องเกิดจากการร่วมคิดร่วมทำของสมาชิกกลุ่ม เมื่อระดมสมองช่วยกันแล้วยังไม่ได้ ก็จะหาวิธีการพึ่งพาผู้มีความรู้และประสบการณ์ จนในที่สุด ไม่เคยมีอุปสรรคใด และปัญหาใดที่ทางชุมชนเองแก้ไม่ได้


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         “วัฒนธรรม นำให้ชุมชนคิด ชุมชนทำ ชุมชนได้ และชุมชนยั่งยืน” เป็นความโชคดีของทางชุมชนที่ทำการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จนก้าวเข้าสู่การท่องเที่ยวชุมชนยลวิถี ด้วยวิถีแห่งวัฒนธรรมที่ชุมชนขับเคลื่อน ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาล้วนเป็นคนที่รักวัฒนธรรมทั้งสิ้น และก็ไม่มีผู้ใดมาทำลายวัฒนธรรมของเรา ทุกคนเข้ามา เพื่อจะดื่มด่ำสัมผัสกับวัฒนธรรม ดังนั้นจึงเป็นพลังบวก พลังสร้างสรรค์วัฒนธรรมแทบทั้งสิ้น และผลลัพธ์ที่ได้ล้วนมีค่ายิ่งต่อชุมชน นั่นคือ การบอกกล่าวเล่าต่อวัฒนธรรมของชุมชน ได้แพร่ไปในวงกว้าง ทำให้คนทั่วไปรู้จัก และอยากเข้ามาในชุมชนยิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน คนในชุมชนเองก็มีความพึงพอใจที่คนภายนอกเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมของเรา จึงเกิดแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมกันต่อไป 


เป้าหมายที่จะเดินต่อ

         ภายหลังจากการดำเนินงานที่เห็นผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์แล้วนั้น ทางชุมชนได้มีความตั้งใจที่จะพาชุมชนคุณธรรมไตลื้อเมืองลวงเหนือก้าวเดินต่อไปข้างหน้า เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ว่าในอนาคต จะเกิดกระแสท่องเที่ยวขึ้นมาใหม่ในรูปแบบใด ทางชุมชนก็จะยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมไตลื้อของชุมชนให้คงอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน แม้ผู้นำแถวหน้าจะล่าถอยลง ชุมชนก็จะสร้างผู้นำแถวสองขึ้นมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อไป


ผู้ติดต่อในพื้นที่

นางสาวพัชรนันท์ บัวมะลิ ๐๘๖-๙๑๙-๑๙๑๕ 


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นางสาวพัชรนันท์ บัวมะลิ ๐๘๖-๙๑๙-๑๙๑๕

แสดงความคิดเห็น

profile