“วัดโฆษาแหล่งรวมใจ ยิ่งใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช
พระบรมสารีริกธาตุศักดิ์สิทธิ์ งามวิจิตรโบสถ์สามชั้น
ลือลั่นประเพณี ตักบาตรเทโว อนุโมทนา
ยกพระเสี่ยงทาย มงคลใจกาย
ไหว้พระไม้เก่า น่ากล่าวขานสิมมหาอุด”
ชุมชนคุณธรรมวัดโฆษาโดยทั่วไปจะประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม มีการช่วยเหลือกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชาวบ้านได้ปฏิบัติกันมา สภาพบ้านเรือนโดยรวมมีลักษณะเป็นบ้านไม้ นอกจากนั้น คนในชุมชนจะยึดถือประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้แก่ ประเพณี ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ ที่ในแต่ละเดือนจะมีกิจกรรมประเพณีกันทุกเดือน สมาชิกในชุมชนมีความสัมพันธ์เป็นแบบพี่น้อง มีความสนิทสนมกัน รู้จักกันทั้งหมู่บ้าน ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีกันดีในชุมชน
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
การพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนต้นแบบ ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชน และคนในชุมชน การดำเนินงานต่างๆ ภายในชุมชน อาศัยหลักคุณธรรม กติกา ข้อตกลงที่ร่วมกันกำหนด จึงจะทำให้การดำเนินงานนั้นประสบความสำเร็จ และให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสานประเพณีวัฒนธรรม โดยการจัดแสดงในงานเทศกาลประเพณีต่างๆ นอกจากนั้นยังได้รวบรวมข้อมูลมรดกภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนไว้ได้อย่างสมบูรณ์ มีรายละเอียด ดังนี้
๑)การรวบรวมบันทึกเรื่องเล่าของชุมชน ได้แก่ หนังสือสวดมนต์แปลคำผญ๋า
๒)การรวบรวมบันทึกเรื่องเกี่ยวกับศิลปะการแสดง ได้แก่ การแสดงฟ้อนเสื้อแขบลาน
๓)การรวบรวมบันทึกเกี่ยวกับความรู้ของช่างพื้นบ้าน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากผ้ามุก
๔)การรวบรมข้อมูลองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมประเพณีไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชวัดโฆษา
๕)การรวบรวมสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
ชุมชนคุณธรรมวัดโฆษา มีการจัดกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและสังคม โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เช่น วันสำคัญทางศาสนาและงานวันสำคัญของชาติ ชุมชนมีความรัก หวงแหนในถิ่นฐานบ้านเกิด มีความสามัคคี แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การดำเนินงานอาจมีอุปสรรคต่างๆ เกิดขึ้น ชุมชนก็สามารถข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านั้นได้ โดยผู้นำและคณะกรรมการในชุมชน จะต้องมาประชุมและแสดงความคิดเห็นร่วมกัน และนำมติที่ได้จากการประชุมมาดำเนินการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านั้นที่เกิดขึ้นให้ลุล่วง
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
การขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนด้วยพลังบวร ที่ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับจากสังคม เนื่องจากคนในชุมชน มีข้อปฏิบัติหลัก ๓ ประการ คือ ยึดมั่นในหลักศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม โดยมีหลักคุณธรรมร่วมกัน ประกอบด้วย พอเพียง ด้านส่งเสริมการทอผ้าพื้นเมือง มีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน วินัย ชุมชนมีความสามัคคีและมีการกำหนดความต้องการร่วมกัน สุจริต ชุมชนมีการตื่นตัว ยึดมั่นในคุณธรรม จิตอาสา ด้านการเรียนรู้ กตัญญูรู้คุณ ชุมชนมีการส่งเสริมการจัดงานประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณ
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
เป้าหมายที่จะเดินต่อคือการจัดงานเทศกาล ประเพณีที่โดดเด่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน มีรายละเอียด ดังนี้
๑)งานประเพณีบุญคูณลาน สืบสานตำนานแม่โพสพ เดือนธันวาคมของทุกปี เป็นการนำข้าวมารวมกัน เมื่อชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จจากฤดูกาลทำนา มารวมกันทำบุญเพื่อที่จะทำให้ข้าวที่ได้มาเป็นมงคล และเป็นการสร้างนิมิตหมายไว้ว่า ปีนี้ชาวบ้านได้ข้าวมาขนาดนี้ อานิสงส์จากบุญกุศลจะส่งเสริมให้ชาวบ้านทุกคนได้ข้าวมากกว่าเดิมในปีต่อไปหรือการทำบายศรี การทำพิธีสู่ขวัญ พิธีแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านหรือชุมชนยึดถือประเพณีอย่างเหนียวแน่น
๒)งานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ (ตักบาตรดอกไม้สวรรค์วันออกพรรษา) วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี โดยการตักบาตรบนสะพานไม้ ถวายดอกไม้ และจัตุปัจจัยบนปะรำพิธีที่เตรียมไว้ เมื่อกลับลงมาจากสะพานไม้ก็ได้ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง
ผู้ประสานงานในพื้นที่
ผู้ประสานงานชุมชนวัดโฆษา
พระครูถาวรพัชรกิจ
โทร ๐๘๑ ๗๘๕ ๘๙๑๖
แสดงความคิดเห็น