community image

ชุมชนคุณธรรมวัดศรีคุนเมือง

อ.เชียงคาน ต.เชียงคาน จ.เลย
วันที่สร้างโพสต์ : 20 กันยายน 2567
วันที่อัปเดต : 27 กันยายน 2567
จำนวนผู้เข้าชม: 5 คน
cover

“ชุมชนคุณธรรมวัดศรีคุนเมือง

ยึดมั่นวิถีธรรมนูญ รักษาอัตลักษณ์ชุมชน”

กว่าจะมาเป็นวันนี้

         ชุมชนวัดศรีคุนเมือง เป็นชุมชนเล็กๆ มีลักษณะบ้านเรือนเป็นกลุ่มบ้านไม้โบราณทอดยาวขนานกับแม่น้ำโขง มีวัดศรีคุนเมือง หรือวัดใหญ่ เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงคาน เป็นศูนย์กลางของชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน งดงามด้วยภูมิสถาปัตย์อันโดดเด่น และฮูปแต้มจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม ปัจจุบัน เชียงคานเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมยอดนิยมอีกแหล่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ยังมีมรดกทางวัฒนธรรม องค์ความรู้ ภูมิปัญญา วิถีชีวิตที่เรียบง่าย และบ้านไม้โบราณริมฝั่งโขง ที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดชวนให้สัมผัส และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน


เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ

         ชุมชนวัดศรีคุนเมืองตระหนักถึงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ความร่วมมือร่วมใจในการควบคุม รักษาตัวตน หรืออัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชน ความยั่งยืนของวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของท้องถิ่นที่ดีงามสู่คนรุ่นต่อไป ทำให้มีการวางแผนการบริหารจัดการโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในชุมชนจนเกิดธรรมนูญชุมชนเชียงคานอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่อาศัยอยู่ในชุมชน รวมถึงภาครัฐที่เข้าไปสนับสนุน โดยหัวใจสำคัญที่ทำให้การประสานงานและความร่วมมือในการแก้ปัญหาของชุมชนให้เป็นไปด้วยดี คือ คนเชียงคานได้ดำรงตนในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ช่วยให้ชุมชนเชียงคาน แม้จะมีความแตกต่างของกลุ่มความคิด แต่ก็สามารถประสานอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข สงบเรียบร้อย เพราะอาศัยหลักดังกล่าว

         ธรรมนูญเชียงคาน คือ ระเบียบข้อปฏิบัติในถนนวัฒนธรรมที่มีการบังคับใช้ในพื้นที่บริเวณถนนชายโขงและบริเวณโดยรอบ หรือถนนคนเดิน ซึ่งมีการเผยแพร่โดยการติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้กับคนในพื้นที่และคนภายนอก ซึ่งทุกฝ่ายได้รับทราบและถือปฏิบัติร่วมกัน อาทิ ห้ามนำยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ที่มีเสียงดัง หรือมีควันดำในพื้นที่นี้ ควรใส่บาตรเพียงข้าวเหนียวอย่างเดียว ส่วนข้าวนำไปถวายที่วัดใกล้ที่พัก เป็นต้น จะเห็นได้ว่าคนในชุมชนมีการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความเสี่ยงต่อความเสื่อมถอยหรือสูญหายของวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นดั้งเดิม จึงมีการหาวิธีจัดการกับปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เชียงคานสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และสามารถรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนไว้เป็นมรดกให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป นอกจากความมีส่วนร่วม และจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะรักษาอัตลักษณ์ เสน่ห์ของชุมชน ทุกคนต่างอาศัยหลักในการดำรงชีวิตด้วยการยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนาเป็นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ใช้การพูดคุยด้วยความเข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน ไม่ละเมิดกฎกติกาส่วนรวมช่วยลดความเบียดเบียน การเอารัดเอาเปรียบและเสริมสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง

         ชุมชนยังมีทุนทางธรรมชาติ และทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น เป็นปัจจัยเอื้ออำนวยให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวมีความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ คือ ตั้งอยู่บนเส้นถนนคนเดิน มีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมประเพณี มีการสืบทอดจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน มีความโดดเด่นของสภาพธรรมชาติ มีลักษณภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ภูมิอากาศหนาวเย็น มีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว จึงมีความเหมาะสมทางด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างดี


ความท้าทาย

         การใช้ชีวิตร่วมกันในชุมชน ด้วยความแตกต่างของบุคคลหลากหลายฝ่าย ย่อมมีแนวคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งบางสิ่งอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา ความเหมาะสม โดยอาศัยความมีเหตุและผล จำเป็นจะต้องรู้จักทำความเข้าใจคนในชุมชนที่เห็นต่างกันไป โดยร่วมกันหารือข้อตกลงจนเกิดเป็นธรรมนูญชุมชน รู้จักยอมรับและปรับตัว เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในชุมชนอย่างมีความสุข ซึ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาหลักของท้องถิ่น ทำให้ทุกฝ่ายไม่กระทำตนต่อต้านหรือใช้ความรุนแรง สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข


ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น

         ธรรมนูญชุมชน สะท้อนถึงความเข้มแข็งของชุมชน ที่มีความตระหนักและหวงแหนอัตลักษณ์ของชุมชน ปรารถนาที่จะให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน ทุกคนที่อยู่ในชุมชนจึงมีวินัยที่จะรักษากฎกติกาของส่วนรวม ก่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชน ไม่ละเมิดกฎกติกาของส่วนรวม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน รักษาผลประโยชน์ของชุมชน ใส่ใจในการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาของชุมชนมากขึ้น ทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งในมิติการท่องเที่ยว การสืบสาน รักษาประเพณีวัฒนธรรรม วิถีชีวิตของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว ไม่ลืมรากเหง้าของวิถีวัฒนธรรม มีความกินดี อยู่ดี บนพื้นฐานศีลธรรมอันดีงาม


เป้าหมายที่จะเดินต่อ

นอกจากการคงอัตลักษณ์ของชุมชน เนื่องจากชุมชนมีความเสี่ยงต่อความเสื่อมถอยหรือสูญหายของวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นดั้งเดิม แล้ว ชุมชนต่างมีเป้าหมายที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประเพณี วัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาของชุมชนแก่คนรุ่นหลังเพื่อสืบสานให้คงอยู่ในชุมชน ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถ่ายทอดภูมิปัญญา การบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน และการบูรณาการกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการรักษาตัวตนหรืออัตลักษณ์ของชุมชนสืบไป 

 

ข้อมูลติดต่อ

นางสาวยุพดี ศรีประเสริฐ ๐๙๓-๕๖๔-๘๗๑๖


ช่องทางติดต่อ
ติดต่อได้โดยตรง
นางสาวยุพดี ศรีประเสริฐ ๐๙๓-๕๖๔-๘๗๑๖

แสดงความคิดเห็น

profile