“ไร่นาสวนผสม ชื่นชมวัฒนธรรม
ชื่นฉ่ำด้วยกรมชล วัตถุมงคลล้ำค่า
ลายผ้าจวนตานี มากมีกลุ่มอาชีพ”
จากชุมชนที่เกือบล่มสลายจากปัญหาความยากจนที่รุมเร้า แต่วันนี้ “ชุมชนบ้านตรัง” ซึ่งมีจุดศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญ คือ “วัดประเวศน์ภูผา (บ้านตรัง)” สามารถพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับคนในชุมชนโดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ คือการลดรายจ่าย ลดการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน หันมาใช้สมุนไพรที่มีในชุมชนผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ CPOT, OTOP ที่มีคุณภาพต่างๆ มากมาย ใช้แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จุดประกายจากการรวมกลุ่มภายใต้ยุทธศาสตร์ “บวร” นั่นคือ ชาวบ้าน วัด โรงเรียนและหน่วยราชการที่เห็นพ้องต้องกันเพื่อขจัดปัญหายาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกที่ดิน ฯลฯ แก้ไขปัญหาปากท้องชุมชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่ชุมชนชีววิถีที่เข้มแข็งมีรายได้นับล้านต่อปี ด้วยแนวคิดพึ่งพาตนเอง ยึดมั่นในความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน “กินอิ่ม เศรษฐกิจในชุมชนพึงพาตนเองได้ และมีรายได้มั่นคง” เป็นการดำเนินงานที่เกิดการ “ระเบิดจากข้างใน” จนค้นพบแนวทางด้วยรูปแบบ ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
การพัฒนาชุมชนให้ก้าวผ่านวิกฤติได้หลายครั้ง มาจากหลักการที่ยึดมั่นร่วมกัน นั่นคือการริเริ่มพัฒนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด จะต้องมีกระบวนการประชาคมเพื่อทำให้แน่ใจว่าการดำเนินงานนี้เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชน ดังนี้
๑.ร่วมกันวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด
จากการปลุกให้คนในชุมชนหันมาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาหนี้สินที่รุมเร้า ทำให้พบความจริงว่า คนในชุมชนขาดความรู้ ทำนาไม่ได้ผล และมีตัวเลขหนี้สินโดยเฉพาะจากการใช้ปุ๋ยเคมีสูงมาก สมาชิกในชุมชนร่วมกันหาหนทางแก้ไขโดยเริ่มต้นจากการทำบัญชีครัวเรือน ตั้งแต่ ๒๕๕๑ เป็นต้นมา
๒.คณะทำงานได้จัดเวทีประชาคมในเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ วางแผนการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมด้วยพลัง “บวร” ระยะที่ ๑ การเตรียมความพร้อม บันไดขั้นที่ ๑ การแสวงหาแนวร่วม และบันไดขั้นที่ ๒ การจัดทำแผนงานแบบมีส่วนร่วม
๓.การสรุปผลการดำเนินงานตามแผนงานนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ทำให้ชุมชนคุณธรรมวัดประเวศน์ภูผา มีความเข้มแข็งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
๔.สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาศักยภาพภาวะผู้นำตามธรรมชาติ
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ผลสำเร็จที่เด่นชัด คือ การส่งเสริมอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบมีส่วนร่วม ภายใต้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจและจิตสำนึกของคนในชุมชน ผ่านการใช้เวทีประชาคม มีการบริหารจัดการชุมชน ร่วมกันคิด ร่วมกันลงมือทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งร่วมกันรักษาคุณค่าทางสังคมที่ดีงาม ทำให้ชุมชนบ้านตรังได้รับรางวัล หมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น เป็นชุมชนต้นแบบการพัฒนาระดับพื้นที่ และอีกหลากหลายรางวัล วันนี้ชุมชนบ้านตรังจึงเป็นแหล่งศึกษาดูงานเรียนรู้วิถีพอเพียง ที่มีผู้สนใจหลั่งไหลมาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม :
วัฒนธรรมสร้างมูลค่า
ชุมชนบ้านตรัง มีวิถีความเป็นอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขแบบเครือญาติ ช่วยเหลือแบ่งปัน พร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่ชุมชน และสนองนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานวัฒนธรรม ด้วยการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้วัฒนธรรม รวมทั้งพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมตามรอยศาสตร์พระราชา
ชุมชนได้ริเริ่มดำเนินการโครงการ “บวร On Tour” โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยทุนวัฒนธรรม ที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน เป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับสมาชิกในชุมชน และนอกจากนี้ในอนาคต ชุมชนยังมีแผนการดำเนินโครงการน้ำดื่มชุมชนขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนอยู่ดีมีสุข ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ผู้ประสานงานติดต่อในพื้นที่ :
นายวันนะ ไชยแก้ว
ผู้ใหญ่บ้าน
โทรศัพท์ ๐๘๗ ๘๘๙ ๗๑๙๔
แสดงความคิดเห็น