ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านกู่ เป็นชุมชนเกษตรกรรม ประชากรมีอาชีพทำนา และรับจ้างทั่วไป มีวิถีชีวิตที่เป็นอยู่แบบเรียบง่าย แต่เมื่อมีการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และขับเคลื่อนด้วยพลังบวร จึงประสบปัญหาในการพัฒนา เพราะความแตกแยกทางความคิดของคนในชุมชน สมาชิกส่วนหนึ่งมองไม่เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าไปขับเคลื่อนการดำเนินงานชุมชนคุณธรรม ซึ่งไม่เข้าใจถึงผลสำเร็จที่เกิดขึ้นว่าตนเองจะได้ประโยชน์อย่างไร จึงไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานและไม่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
๑.ใช้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาและการอนุรักษ์ประเพณีของชนเผ่ากูย โดยพระครูชาครธรรมคุณ เจ้าคณะตำบลกู่/เจ้าอาวาสวัดบ้านกู่ ได้เสนอแนวคิดในที่ประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยนำชุมชนสมัครเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้ชุมชน นำความเชื่อและความศรัทธามาปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข เริ่มจากครอบครัวก่อน
๒.การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปฏิบัติในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความเข้าใจในการดำรงชีวิต มีความอดทน อดออม ขยัน ไม่โลภ มีความพอประมาณ รู้จักพึ่งตนเอง พึ่งกันเองในชุมชน ซึ่งมีการรวมกลุ่มทำอาชีพเสริม เช่น กลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มจักสาน กลุ่มทำไม้กวาด ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวหน้าบ้านเพื่อใช้ในการประกอบอาหารของครัวเรือน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้
๓.ทุนวัฒนธรรมของชุมชน ชุมชนคุณธรรมวัดบ้านกู่ มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และมีจุดเด่นที่สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว การศึกษาแลกเปลี่ยน การจัดทำองค์ความรู้ เพื่อสร้างกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่
๔.ความเข้มแข็งของพลัง “บวร” และการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ส่งเสริมให้คนในชุมชนรู้จักการวางแผนการพัฒนาชุมชนโดยเน้นการมีส่วนร่วมในการวางแผน การดำเนินงาน การรับผลประโยชน์ และการปรับปรุงการดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ด้านศาสนธรรม : ชุมชนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอน รักษาศีล ทำดี พูดดี รู้จักให้อภัย ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข เป็นหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ต้นแบบระดับจังหวัด ขยายผลสู่โรงเรียนรักษาศีล ๕และตำบลรักษาศีล ๕ นำศีลมาเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหา ของครอบครัว ชุมชน สังคม นอกจากนี้มีกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมทุกวันพระ กิจกรรมทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา การจัดค่ายปฏิบัติธรรม กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ฯลฯ
ด้านหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง :คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการสืบสาน รักษา ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมกลุ่มประกอบอาชีพเสริม ได้แก่ กลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มจักสาน กลุ่มทำไม้กวาด มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนจำหน่ายและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คนในชุมชนรู้จักพึ่งพาตนเอง ประกอบสัมมาอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี
ด้านการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น : มีการใช้ภาษากูยในการสื่อสาร การแต่งกาย อาหาร ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของชนเผ่ากูย การจัดกิจกรรมประเพณีตามฮีตสิบสองคลองสิบสี่ ประเพณีแซนเหลียน ประเพณีแซนหลาว รำแกลมอ งานประเพณีหวัว บุญเบิกฟ้า มหัศจรรย์เดือน ๓ ณ บริเวณปราสาทปรางค์กู่ ซึ่งได้รับการบรรจุให้เป็นงานบุญประเพณีประจำปีของจังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม ที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
๑.การส่งเสริมให้แกนนำพลัง“บวร” มีบทบาทในการพัฒนาตนเอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนและยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งสามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม
๒.ส่งเสริมการขยายผลการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนให้ได้รับโอกาสในการส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ชุมชนได้เข้าถึงโอกาสจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เกิดความเข้มแข็งในชุมชน สังคม และประเทศชาติ
ผู้ประสานงานติดต่อพื้นที่ :
นายทนงศักดิ์ นรดี
มือถือ ๐๖๔-๔๐๒๐๕๙๔
แสดงความคิดเห็น