“นำศีลธรรมมาเป็นภูมิคุ้มกัน
เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน”
ชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน มี ๓ ชุมชนย่อยรวมกันอยู่ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลทองผาภูมิ ได้แก่ ชุมชนคุณธรรมวังท่าขนุน ชุมชนคุณธรรมริมฝั่งแควน้อย และ ชุมชนคุณธรรมพัฒนาทองผาภูมิ แม้ว่าชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน จะมีความหลากหลายของชาติพันธุ์ แต่ก็มีสิ่งที่ยึดโยงทั้ง ๓ ชุมชนเข้าด้วยกัน คือ หลวงปู่สาย (พระครูสุวรรณเสลาภรณ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน อดีตเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ ซึ่งสร้างคุณงามความดีไว้กับชุมชนเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะมรณภาพไปนานถึง ๒๙ ปีแล้ว ยังเป็นที่เคารพนับถือของทุกคนมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อทุกคนมีหลักใจเดียวกัน การทำงานของชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุนจึงเป็นไปโดยง่าย
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
๑.ชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุนเริ่มต้นด้วยการจัดประชุม เพื่อหาของดีที่เรามีอยู่แล้วมาเป็นจุดขายและสร้างอาชีพเพื่อเป็นรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งจากการประชุมก็สามารถต่อยอดสิ่งที่เรามีได้หลายอย่าง รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุน ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
๒.ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมขึ้นมาในปี ๒๕๖๐ เกิดความร่วมมือของทุกคนในชุมชน ด้วยหลักการพลัง “บวร”
๓.สร้างความตระหนัก ความต้องการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน และความเสียสละอันเป็นจิตสาธารณะที่คิดจะทำงานเพื่อให้ชุมชนของตนดีขึ้นในทุก ๆ ด้านโดยไม่รับผลตอบแทน ซึ่งสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ คือ คณะทำงานทุกตำแหน่งในชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุนจะไม่มีค่าตอบแทน งบประมาณหรือรายได้ทั้งหมดจะถูกใช้เพื่อการพัฒนาชุมชนเท่านั้น
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน มีการจัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมของชุมชนหลากหลายด้าน ได้แก่
๑.การปลูกผักปลอดสารพิษ การจัดทำปุ๋ยชีวภาพ กับน้ำหมัก ตามแนวทฤษฎีศาสตร์พระราชาด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “คุณธรรมเริ่มที่ตนเอง”
๒.จัดทำองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมเชิงประวัติศาสตร์ เช่น สงครามโลกครั้งที่ ๒ กับบ้านท่าขนุน บ้านเชลยศึก เป็นต้น
๓.องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นแปรรูป เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทุกวัย และปรับให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันที่รับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
การดำเนินงานยังคงมุ่งเน้นให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและลองลิ้มชิมรสชาติของทองโยะ (ปลาท่องโก๋กะเหรี่ยง) อาหารพื้นถิ่นดั้งเดิมอยู่ ได้แปรรูปเป็น ไดฟุกุทองโยะ เฟรนช์ฟรายทองโยะ ผัดพริกขิงทองโยะน้ำพริกกะท้อน และขนมวง (โดนัทกะเหรี่ยง)
การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวของชุมชน มีการปรับเส้นทางเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นจุดดึงดูดจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น สร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้น ดังนี้
๑.การจัดทำแลนด์มาร์คบริเวณหัวสะพานแขวนหลวงปู่สาย โดยปรับภูมิทัศน์เป็นสวนหย่อม รวมทั้งการปรับปรุงบ้านพักตำรวจ (เก่า) เป็นร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน
๒.กิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การมีส่วนร่วมในการทำอาหารท้องถิ่น การพายเรือล่องแพชมทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย
๓.มีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพลัง “บวร” อย่างสม่ำเสมอ
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
ด้วยความที่ต่างคนต่างที่มา มีพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ทำให้เมื่ออยู่หรือทำงานร่วมกันย่อมเกิดปัญหาและความขัดแย้งขึ้น ชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุนนั้นได้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาได้โดยการยึดหลักจิตสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ทุกโครงการ ทุกนโยบาย ล้วนเป็นไปเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
๑.สร้างอาชีพเพื่อให้เกิดรายได้ โดยเชื่อว่า เมื่อคนมีงานจะมีเงิน มีเงินก็จะไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และพร้อมเสียสละเพื่อชุมชน
๒.สร้างสำนึกรักบ้านเกิดของเด็กรุ่นใหม่ โดยในทุกๆ โครงการนั้นจะให้เด็กๆ ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อปลูกฝังจิตสาธารณะและสำนึกรักบ้านเกิด สร้างจิตสำนึกให้หวงแหนความเป็นตัวเอง และไม่ลืมอัตลักษณ์ของตน
๓.พัฒนาสถานที่ต่างๆ ให้มีความสวยงามน่าท่องเที่ยว น่าเยี่ยมเยือน โดยชุมชนเป็นผู้ดูแล
ผู้ประสานงานในพื้นที่
นางมณี เทพวงษ์ โทร ๐๘๗ ๙๐๗ ๗๕๔๓
นางพนอ จันทจิตร โทร ๐๖๒ ๕๔๒ ๘๙๕๙
นางสาวบุญสนอง บุญยงค์
ประธานชุมชนคุณธรรมวังท่าขนุน
โทร ๐๘๑ ๓๗๘ ๓๗๒๕
แสดงความคิดเห็น