ชุมชนวัดตะปอนใหญ่เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า ๔๐๐ ปี ประชาชนส่วนมากทำนา บางส่วนทำสวนผลไม้ เงาะ มังคุด ทุเรียน มีวัดตะปอนใหญ่เป็นจุดศูนย์รวมของชุมชน จุดเด่นของชุมชน คือ มีตลาดสายวัฒนธรรมที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน คือ ตลาดโบราณ ๒๗๐ ปี มีประเพณีที่โดดเด่นจนได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญา คือ งานประเพณีการชักพระบาท (วัดตะปอนใหญ่)
กว่าจะมาเป็นวันนี้
คนในชุมชนส่วนหนึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย และเป็นสังคมผู้สูงอายุซึ่งบางรายเป็นผู้ป่วยติดเตียงทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ แต่สภาพทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนค่อนข้างดี ประกอบกับนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรีให้การสนับสนุนการดำเนินการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร และวิถีวัฒนธรรมไทย เมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวัฒนธรรม พระครูสาราภินันท์ เจ้าอาวาสวัดตะปอนใหญ่ และคณะ เห็นว่าชุมชนวัดตะปอนใหญ่มีอายุมากกว่า ๒๗๐ ปีเป็นมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ควรจัดตั้งตลาดโบราณ ๒๗๐ ปี ของดีบ้านตะปอนใหญ่ ให้ชาวบ้านนำสินค้า อาหารพื้นเมืองมาจำหน่าย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ยึดหลักคุณธรรมขายสินค้าคุณภาพ ราคายุติธรรม และมีข้อกำหนดให้แต่งกายย้อนยุคหรือไทยประยุกต์ ใช้วัสดุธรรมชาติแทนใช้โฟมบรรจุอาหารเป็นเอกลักษณ์ของตลาด
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
ปัจจุบันนี้ความเจริญทางด้านวัตถุได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมเกิดค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับอำนาจเงินทองมากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับจิตใจและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นจิตสาธารณะส่งผลให้สังคมเกิดความเสื่อมโทรม แต่คนในชุมชนบ้านตะปอนใหญ่มีความเจริญด้านจิตใจและมีจิตสาธารณะ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และช่วยเหลือสังคมด้วยการร่วมกันทำกิจกรรมความดีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งทำให้หมู่บ้านสะอาดน่าอยู่มากขึ้น เช่นรวมกลุ่มจิตอาสา ทำความสะอาดวัด ชุมชน เป็นเจ้าภาพจัดโรงทานในงานบุญต่างๆ ทั้งภายในชุมชนและนอกชุมชน นอกจากนี้ชุมชนบ้านตะปอนใหญ่ยังได้แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการร่วมกลุ่ม “จิตอาสาเฉพาะกิจ” ขึ้น เพื่อเป็นการรวมพลังความรักความสามัคคีของคนในชุมชน
ความท้าทาย/พลังแห่งการขับเคลื่อน
เนื่องจากพื้นฐานของคนในมีความเอื้ออาทรต่อกันประกอบกับมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีความเข้มแข็งทางด้านคุณธรรม รักษาวัฒนธรรมประเพณี มีวัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีนักวิชาการหรือผู้ชำนาญเฉพาะสาขามาให้ความรู้หรือคำแนะนำทำการประเมินงานเป็นระยะ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนอื่นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จึงส่งผลให้ชุมชนคุณธรรมวัดตะปอนใหญ่ ประสบผลสำเร็จ เป็น ๑ ใน ๑๐ ชุมชนคุณธรรมต้นแบบ ของจังหวัดจันทบุรี
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ระยะเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินงานประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ชุมชนมีความพออยู่พอกิน และมีความยั่งยืนต่อตนเองและครอบครัว อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในภาพรวม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานขยายผลเกิดประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการดำเนินการติดตามประเมินผลเพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรค ผลประโยชน์ และผลการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อประชากรกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำผลการประเมินผลไปใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานในระยะต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
การส่งเสริมคุณธรรมยังคงดำเนินการต่อ มีแนวทาง คือ ๑)การกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน กระจายรายได้อย่างทั่วถึง ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒)ส่งเสริม สนับสนุน ประชาสัมพันธ์ ตลาดโบราณ ๒๗๐ ปีตะปอนใหญ่ ซึ่งเป็นตลาดสายวัฒนธรรม ๓)ปลูกฝังให้คนในชุมชนช่วยกันสืบทอด อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของชุมชนให้คงอยู่ ๔)สร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด และความภูมิใจในท้องถิ่นของตน ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนในชุมชนเป็นเจ้าบ้านที่ดี โดยการส่งเสริมและฝึกฝนมัคคุเทศก์น้อยประจำท้องถิ่น
ผู้ประสานงานในพื้นที่
พระครูสาราภินันท์
ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดตะปอนใหญ่
โทร ๐๘๑-๙๔๙-๑๐๒๒
นางสาวสมบัติ ประทุม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๒
โทร ๐๘๔-๗๐๔-๐๔๖๙
แสดงความคิดเห็น