กว่าจะมาเป็นวันนี้
ในอดีตชุมชนคุณธรรมบ้านรางพลับประสบปัญหาเรื่องขยะซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ชุมชนต้องเผชิญกับการสัญจรที่เต็มไปด้วยขวดและถุงพลาสติกที่ถูกโยนทิ้งเกลื่อนกลาด เมื่อขยะล้นถังแต่ละบ้านก็จะเลื่อนถังขยะไปไว้หน้าบ้านคนอื่น เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่พอใจกัน ทั้งยังทำให้เกิดโรคระบาดตามมาคือโรคไข้เลือดออก เนื่องจากน้ำขังจากขยะในหมู่บ้าน กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนต้นแบบ
นายสนั่น เตชะดี ผู้นำชุมชนบ้านรางพลับ มองว่าขยะคือต้นตอของทุกปัญหาที่เกิดขึ้น หากจัดการปัญหาเรื่องขยะให้ลดน้อยลงได้ ปัญหาอื่น ๆ ก็จะทุเลาเบาบาง จึงเริ่มต้นจากนำคนในชุมชนไปศึกษาดูงานจากชุมชนที่ประสบผลสำเร็จเรื่องแยกขยะ แล้วกลับมาทำโครงการแยกขยะในชุมชน แต่ปรากฏว่าทำไป ๒ สัปดาห์ ขยะก็กลับมาล้นถังเหมือนเดิม จึงกลับมาคิดทบทวนใหม่ว่าแต่ละชุมชนมีวิธีแก้ปัญหาต่างกัน ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน สร้างคนให้มีวินัย นำหลักคุณธรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการสร้างความเข้มแข็ง จึงเริ่มจากจัดประชุมหาปัญหาของชุมชน และสรุปได้ว่าปัญหาที่อยากแก้ร่วมกันคือเรื่องขยะ ผู้ใหญ่สนั่นกับทีมงานจึงเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยตั้งระเบียบข้อปฏิบัติต่าง ๆ ให้คนในชุมชนปฏิบัติ เมื่อทำแล้วเห็นผลก็มีชาวบ้านเข้ามาร่วมปฏิบัติตามกฎระเบียบของชุมชนมากขึ้น เพราะการคัดแยกขยะทำให้ขยะลดน้อยลง และสามารถสร้างรายได้จากการแยกขายขยะ บางอย่างนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้ได้
ส่วนขยะแห้งหรือเศษอาหารนำมาทำปุ๋ยหมักอินทรีย์สำหรับใส่นาข้าวและพืชผักสวนครัวที่ปลูกรอบ ๆ บ้าน เพื่อไว้บริโภคเองหรือแลกเปลี่ยน แบ่งปันกับเพื่อนบ้านเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย และเมื่อเหลือจากบริโภคก็นำไปจำหน่ายเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันชุมชนบ้านรางพลับกลายเป็นหมู่บ้านตัวอย่างเรื่องความสะอาดและเป็นต้นแบบในเรื่องการจัดการขยะที่ได้รับรางวัลชนะเลิศชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ประเภทชุมชนขนาดใหญ่ ประจำปี ๒๕๖๒ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ โครงการสะอาดบุรี รางวัลชนะเลิศหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ระดับจังหวัด และเป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวรต้นแบบ จังหวัดราชบุรี
ความท้าทาย
เริ่มจากให้เทศบาลเก็บถังขยะกลับไปไม่ให้วางในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่สนั่นก็ให้ลูกบ้านค่อย ๆ ปรับตัวโดยแจกถุงดำให้ใช้แทนถังขยะ เมื่อไม่มีที่ทิ้งขยะชาวบ้านก็เริ่มแยกขยะกันอย่างจริงจัง ขยะก็เริ่มลดน้อยลง จึงออกมาตรการว่าให้แต่ละบ้านทิ้งขยะได้สัปดาห์ละ ไม่เกิน ๕ กิโลกรัม โดยถือกิโลไปชั่งขยะแต่ละบ้าน ต่อมาเมื่อขยะน้อยลงก็ไห้เทศบาลมาเก็บขยะสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ช่วงแรกมีลูกบ้านต่อต้านไม่เห็นด้วย แต่ผู้ใหญ่สนั่นก็ใช้ความอดทน ความพยายาม ความจริงใจที่จะแก้ปัญหาของชุมชนเพื่อประโยชน์ของตัวลูกบ้านและหมู่บ้าน จนกระทั่งขยะเริ่มลดน้อยลงการต่อต้านจึงค่อยๆ หายไป และมีลูกบ้านให้ความร่วมมือมากขึ้นจนประสบผลสำเร็จ
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
การจัดการขยะของชุมชนบ้านรางพลับประสบผลสำเร็จเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่มีเป้าหมายร่วมกันชัดเจนในการแก้ไขปัญหา โดยยึดเอานโยบาย 3R เป็นหลัก คือ Reduce -การลดการใช้ Reuse - การใช้ช้ำ และ Recycle ขยะส่วนนี้ชาวบ้านจะแยกเก็บไว้ให้เทศบาลนำไปแปรรูปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ขณะที่ขยะอันตรายจะนำไปไว้ที่ศาลากลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็นจุดทิ้งขยะอันตรายที่ทางชุมชนกำหนดไว้
คนในชุมชนมีวินัยต่อตนเอง ต่อส่วนรวม ต่อสังคม และเคารพกฎ กติกา และปฏิบัติตามข้อตกลงของสังคม แลกผลจากการจัดการขยะ ทำให้สิ่งแวดล้อมของชุมชนดีขึ้นไม่มีมลภาวะ โรคไข้เลือดออกหมดไป สภาพแวดล้อมของชุมชนสะอาด สวยงาม พฤติกรรมของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการคัดแยกขยะ จากการจำหน่ายพืชผักสวนครัวที่งอกงามจากการใช้ปุ๋ยที่ทำจากขยะ
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
เป้าหมายของชุมชนคุณธรรมบ้านรางพลับที่จะทำต่อไปคือการถ่ายทอดประสบการณ์ และเป็นแบบอย่างให้กับหมู่บ้านในพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน ๑๗ ชุมชน ในการลดขยะในพื้นที่ให้น้อยลง โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ แนะแนวทาง และให้เข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตนเอง ความตั้งใจของชุมชนคุณธรรมบ้านรางพลับอีกเรื่องหนึ่งคือไม่ต้องการให้สิ่งดีๆ ในหมู่บ้านจบเพียงเท่านี้ แต่ต้องการถ่ายทอดและส่งต่อให้คนรุ่นลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้และรับช่วงต่อ จึงนำเรื่องของการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเข้าเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียน รวมทั้งนำเยาวชนรุ่นใหม่มาร่วมมีบทบาทในการพัฒนาหมู่บ้าน และเป็นไกด์พานักท่องเที่ยวเดินชมการทำงานของชุมชน เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนมีความรักในบ้านเกิด และให้เข้ามามีส่วนร่วมและให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน โดยเวลามีนักท่องเที่ยวหรือคณะศึกษาดูงานมาที่ชุมชนคุณธรรมบ้านรางพลับ ผู้ใหญ่บ้านจะไปขอตัวเด็กนักเรียนกับทางโรงเรียน เพื่อให้พานักท่องเที่ยวหรือคณะศึกษาดูงานไปดูการคัดแยกขยะ ดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน เพื่อให้เด็กในชุมชนได้รู้จักผู้คน ได้มีประสบการณ์ แล้วรู้ว่าหมู่บ้านของเรามีสิ่งดีๆ ที่ผู้ใหญ่สร้างไว้ให้เด็กๆ อย่างมากมาย แล้วสามารถ ต่อยอดจากสิ่งที่ทำไว้ให้และทำให้ก้าวหน้าต่อไป
ข้อมูลการติดต่อ
นายวิเชียร โสภา ๐๙๖ ๙๒๓๕๗๕๕
แสดงความคิดเห็น