“ประเพณีขึ้นโด่ฟังธรรม
งามเลิศล้ำถ้ำผาเขียว ท่องเที่ยววิถีชุมชน
คนปางงุ้นยินดีต้อนรับจ้าว/ครับ”
กว่าจะมาเป็นวันนี้
บ้านปางงุ้นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ธรรมชาติ มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ชาวบ้านมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หาของป่า และค้าขาย อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย คนปางงุ้นเป็นคนมีศีลมีธรรม นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปฏิบัติและยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงไม่มีปัญหาอาชญากรรม ปัญหาลักขโมย มีวัดปางงุ้นเป็นศูนย์รวมความศรัทธา มีความเชื่อเรื่องผีเจ้าบ้าน และต้นสักเก่าแก่อายุกว่า ๒๐๐ ปี ที่คอยปกปักรักษาลูกบ้านให้อยู่ดีมีสุข นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่สืบทอดกกันมายาวนานอย่างประเพณีขึ้นโด่ฟังธรรมในวันวิสาขบูชาของทุกปี ที่จัดขึ้นในถ้ำผาเขียว บนยอดโด่แม่อาง ซึ่งมีความสูง ๓๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของตำบลสรอย
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ
ชาวบ้านดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความเป็นอยู่พอมี พอกิน พึ่งพาตนเองได้ มีภูมิคุ้มกันที่ดี เตรียมตัวให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปรับเปลี่ยนการดำรงชีพตามสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี กลุ่มผู้นำชุมชนเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ สู่ชุมชน โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อพัฒนาให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะ ที่มีความโดดเด่นเรื่องอาหารปลอดภัย ถูกใจนักท่องเที่ยว ในชุมชนชุมชนมีกิจกรรมการปลูกผักอินทรีย์ เลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ เลี้ยงเป็ดอินทรีย์ ตลอดจนข้อตกลง กติการ่วมกันที่จะลดการใช้สารเคมี เปลี่ยนมาเป็นการทำเกษตรแบบปลอดภัย เพื่อไม่ให้สารพิษตกค้างสู่ร่างกาย ไม่ปนเปื้อนลงไปในน้ำ ในดิน ในอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากชุมชนได้มีส่วนร่วมในการคิด ร่วมกันเสนอแนะแนวทางการพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมในชุมชนที่มีอยู่ ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา เน้นการมีส่วนรวมของคนในชุมชนตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนสำเร็จเสร็จสิ้น ทำให้ทุกคนได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมใจ ในการพัฒนาชุมชนบ้านปางงุ้น จนเกิดการพัฒนาขึ้นในหลากหลายมิติ โดยใช้พลังบวร เป็นเสาหลักอันเข้มแข็ง บวกกับการบริหารจัดการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมอันดีเยี่ยมของชุมชนบ้านปางงุ้น จนเกิดเป็นผลสำเร็จที่ผลักดัน บ้านปางงุ้น เป็นชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ ที่ปัจจุบันนอกจากจะเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งของพลังบวรแล้ว ยังเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวจังหวัดแพร่
ความท้าทาย
- ชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ในฤดูแล้งมักประสบปัญหาภัยแล้ง ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการเจาะบ่อบาดาล ที่ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้เบื้องต้น ต่อไปจึงมึการเตรียมการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเหมาะสม
-หลังฤดูกาลการเก็บเกี่ยวมักจะประสบปัญหาหมอกควันไฟป่า ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ คนในชุมชนจึงร่วมมือร่วมใจกันป้องกันไฟป่าในชุมชน งดเผาป่าเพื่อหาของป่า งดเผาเศษไม้ ซังข้าว เรือกสวนไร่นา อีกทั้งคอยสอดส่องเป็นหูเป็นตา ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อห้าม แสดงถึงวินัยของคนในชุมชนในการดำเนินชีวิต มีวินัยต่อส่วนรวมเคารพต่อกฎหมายบ้านเมืองและข้อตกลงของชุมชน
ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันชุมชนคุณบ้านปางงุ้น มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มท่องเที่ยว “ปางงุ้นหมู่บ้านสีเขียว ท่องเที่ยวสุขใจ” มีโครงสร้างการทำงานของกลุ่มรวมถึงแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจน มีคณะกรรมการบริหารจัดการเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนที่ซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ มีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชนผ่านช่องทางหลากหลาย จากการที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง ปัจจุบันมีหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐภาคเอกชน มาร่วมช่วยคิด ช่วยสร้าง ช่วยพัฒนาชุมชนให้มีอัตลักษณ์สำหรับการท่องเที่ยวที่ชัดเจน เช่น กระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมกับชุมชนบ้านปางงุ้น จัดกิจกรรมส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวบวร On Tour พัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม สร้างกระแสการท่องเที่ยวจากทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ และช่วยเชื่อมโยงจุดท่องเที่ยวในชุมชนให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนด้วยการขับเคลื่อนพลังบวรในพื้นที่ เป็นต้น ปัจจุบันบ้านปางงุ้น กลายเป็นจุดมุ่งหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติ ที่พักราคาถูกใจ ดังประโยคที่ว่า “เที่ยว พัก หลักร้อย ชมวิวหลักล้านที่บ้านปางงุ้น”
เป้าหมายที่จะเดินต่อ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ ทำให้เริ่มมีการจัดเตรียมการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคตโดยกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสุขภาพ มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ กำหนดเขตป่าชุมชนและคนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมีความสุข ชุมชนมีความหวังว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชุมชนบ้านปางงุ้นแล้ว นอกจากการพักค้างคืนที่มีรองรับหลากหลายรูปแบบทั้งกางเต๊นท์ โฮมสเตย์ หรือรีสอร์ท ท่ามกลางธรรมชาติ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ แถมยังได้รับประทานอาหารอินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ชุมชนกลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะ อาหารปลอดภัย ถูกใจนักท่องเที่ยว เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะอย่างยั่งยืน
ผู้ติดต่อในพื้นที่
นายอัครเดช พุกจินดา ๐๘๖-๑๑๖-๗๐๒๗
แสดงความคิดเห็น