“ทองเอนหมู่เฮา สาวเจ้างามหลาย
งอบไผ๋บ่เทียม สินค้าเยี่ยมโอท็อป
รอบล้อมนาข้าว ปลาส้มเฮาแซ่บหลาย
ผู้ใด๋ได้มาเยือน บ่ลืมเลือนบ้านทองเอน”
ชุมชนคุณธรรมบ้านดงยาง เป็นชุมชนของชาวลาวแง้ว ที่มีเชื้อสายมาจากลาวเวียงจันทร์และหลวงพระบางที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ จนกระทั่งปัจจุบัน แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เด็กและเยาวชนในชุมชนหลงลืมวัฒนธรรมอันดีงาม และไม่ค่อยให้ความสำคัญ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน รวม ๕ ด้าน ได้แก่ การแต่งกาย ภาษา การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อาหารประจำถิ่น และอาชีพจักสาน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามและเป็นอัตลักษณ์ของชาวชุมชนให้คงอยู่จนชั่วลูกชั่วหลานต่อไป
เส้นทางสู่ความสำเร็จของการมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ
ชุมชนวัดดงยางประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจ และความสามัคคีกลมเกลียวของคนในชุมชน มีผู้นำพลังบวรที่มีความเข้มแข็งครบ ๓ องค์ประกอบ ได้แก่ วัดดงยาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางศาสนา จัดกิจกรรมสืบสานอัตลักษณ์ ประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่น โรงเรียนชุมชนวัดดงยาง จัดให้มีการศึกษาวิชาศีลธรรม อบรมคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เยาวชน โดยบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน เพื่อบ่มเพาะปลูกฝังให้เด็กได้ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา ส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนดี โรงเรียนทองเอนวิทยา ส่งเสริมให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนทุกกิจกรรม เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนเป็นคนดี มีคุณภาพ และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ส่วนราชการ องค์กรภาคเอกชน และภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ตำบลทองเอน ได้ประสานความร่วมมือบูรณาการการดำเนินโครงการ กิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชนบ้านดงยาง อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลทองเอน เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชน ทั้งในด้านสถานที่จัดกิจกรรม จัดประชุม อบรม สัมมนา ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างชุมชน จัดตั้งจุดเช็คอินและต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรม และการจัดงานประเพณีของชุมชนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้นำทั้ง 3 องค์ประกอบ ได้ร่วมเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนด้วยพลังบวร ชุมชนคุณธรรมบ้านดงยาง ชุมชนมีการนำหลักการ “บวร” คือ การบูรณาการการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ จากความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน และภาคราชการ มาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน และมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะส่งเสริมและพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนคุณธรรม โดยการนำหลักคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะ “คุณธรรมเป้าหมาย” ๔ ประการ ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา จึงทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เกิดความรัก ความสามัคคี คนในชุมชนมีคุณธรรม รู้จักเสียสละ มีความกตัญญูรู้คุณ และมีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
ชุมชนวัดดงยาง เป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดในจังหวัดสิงห์บุรี โดยเฉพาะด้านประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามทั้ง ๕ ด้าน ได้แก่ การแต่งกาย ภาษา การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อาหารประจำถิ่น และอาชีพจักสาน ที่มีการอนุรักษ์และสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
เกิดความรัก สามัคคีปรองดองของคนในชุมชน ลดช่องว่างระหว่างวัย ครอบครัวมีความรัก ความผูกพัน และชาวบ้านมีความสุขมากขึ้น
ก้าวต่ออย่างมีคุณธรรม
นอกจากส่งเสริมและรักษาซึ่งประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามแล้ว เป้าหมายของชุมชนที่จะพัฒนาต่อไปคือ การนำเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน ยกระดับชุมชน ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในดีขึ้น โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ส่งเสริมคนในชุมชนให้มีรายได้จากต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ตนมี อักทั้งยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของชาวไทย-ลาวแง้ว ชุมชนบ้านดงยางให้เป็นที่รู้จักของสาธารณะด้วย
ผู้ประสานงานในพื้นที่
ผู้ประสานงาน (ของชุมชนฯ):
นางปราณี บัวพนัส
โทร. ๐๘๕-๑๗๒-๓๓๑๒
แสดงความคิดเห็น